จากกรณีที่มีเหตุการณ์เพลิงไหม้ติดต่อกันทั้งที่ชุมชนบ่อนไก่ และเยาวราช ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้เราคนไทย เกิดความสงสัยว่าทำไมช่วงนี้มีเหตุการณ์ไฟไหม้เกิดขึ้นบ่อยเหลือเกิน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เยาวราชนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากความประมาทของคน แต่เกิดจากการที่หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด แล้วเกิดไฟลุกลามไปติดรถยนต์ ลามไปยังอาคารพาณิชย์บริเวณดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินมากมาย
สถิติไฟใหม้ในกรุงเทพฯ ภายในระยะเวลา 6 เดือนมีไฟไหม้ถึง 131 ครั้ง สาเหตุส่วนใหญ่นั้นเกิดจากสายไฟ สายสื่อสารหรือไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งทุกคนต้องคอยตรวจสอบความเสี่ยงของตัวเองอยู่เสมอ ปัญหาเพลิงไหม้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ดังนั้น Central Inspirer จึงอยากชวนทุกคนมาเรียนรู้กันว่าเพลิงไหม้เกิดขึ้นได้อย่างไร พร้อมวิธีป้องกัน และเอาตัวรอดเมื่อเกิดเพลิงไหม้ค่ะ
เพลิงไหม้เกิดขึ้นได้อย่างไร
การเกิดเพลิงไหม้ ไม่ว่าจะเกิดจากการที่ไฟฟ้าลัดวงจร หม้อแปลงไฟเก่า จากการทิ้งก้นบุหรี่ การวางเพลิง หรือวิธีใดก็ตาม ไฟไหม้เกิดจากการสันดาป หรือการเผาไหม้ (Combustion) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาเคมี ที่เกิดจากการรวมตัวของเชื้อเพลิงกับออกซิเจน ซึ่งเป็นผลให้เกิดความร้อนและแสงสว่างกับสภาพการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไฟจะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบด้วย องค์ประกอบ 3 อย่าง หรือเรียกว่า ทฤษฎีสามเหลี่ยมของไฟ คือ
- เชื้อเพลิง (Fuel) หรือ สิ่งที่ติดไฟและลุกไหม้ได้
- ความร้อน (Heat) คือ ความร้อนที่เหมาะสมและเพียงพอ สามารถทำอุณหภูมิสูงจนทำให้สารเชื้อเพลิงจุดติดไฟ เช่น สะเก็ดไฟ ลูกไฟจากการเชื่อมเครื่องจักรร้อน ไฟฟ้าช็อต เปลวไฟ บุหรี่ หรือฟ้าผ่า เป็นต้น
- ออกซิเจน (Oxygen) ในบรรยากาศทั่วไป มีออกซิเจนอยู่ประมาณ 21% ซึ่งช่วยทำให้ติดไฟได้
นอกเหนือจากองค์ประกอบดังกล่าวแล้วจะต้องมีปฏิกิริยาลูกโซ่ หรือ Chain Reaction ของการสันดาป โดยเมื่อเชื้อเพลิงได้รับความร้อนจากการเกิดก๊าซหรือไอที่ผิวมากพอที่จะติดไฟได้ และมีออกซิเจนในอากาศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 16 ไฟก็ติดขึ้น โมเลกุลของเชื้อเพลิงจะแตกตัวเป็นโมเลกุลที่มีขนาดเล็กลง จนแปลสภาพเป็นก๊าซแล้วลุกไหม้ต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่
วิธีป้องกันตัวและเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้
มนุษย์เราทุกคนย่อมมีสัญชาตญาณของการเอาตัวรอด เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ขึ้นฉับพลัน สิ่งแรกที่คนเราจะทำคือ ช่วยเหลือตัวเองให้รอดปลอดภัยและออกจากสถานที่เสี่ยงภัยให้เร็วที่สุด เมื่อเหตุการไฟไหม้อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด เราจึงควรเรียนรู้วิธีการรับมือ การป้องกันตัว และการเอาตัวรอดอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มาดูกันว่าเราควรปฏิบัติอย่างไรบ้าง
1. หมั่นสังเกตความผิดปกติต่างๆ
ไม่ว่าคุณจะอาศัยอยู่ในบ้าน คอนโด อาคารพาณิชย์ ทำงานในออฟฟิศสำนักงาน หรือโรงงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกอาคาร หมั่นสังเกตความผิดปกติต่างๆ ที่เกี่ยวกับไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นปลั๊กไฟ ปลั๊กพ่วง คัทเอ้าท์ ทรานฟอร์เมอร์อุปกรณ์เกี่ยวกับไฟฟ้าภายนอกอาคารก็เช่นกัน หมั่นสังเกตหม้อแปลงที่อยู่ใกล้ๆ ดูหมดอายุ มีไฟแลบออกมา สังเกตสายสื่อสารที่ดูมีปัญหา มีความรกรุงรังอันก่อให้เกิดความเสี่ยง สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดไฟไหม้ได้
2. ตั้งสติ
อย่างแรกเมื่อเกิดไฟไหม้คือ การตั้งสติ ต้องไม่ตื่นตระหนก และประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้นว่าเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นนั้นมีความรุนแรงแค่ไหน และอยู่ใกล้ตัวมากแค่ไหน เป็นกองไฟที่เราสามารถดับเองได้ หรือเปลวไฟดูโหมลุกจนไม่สามารถทำอะไรได้
3. สังเกตเส้นทางหนีเอาตัวรอด
ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโด ออฟฟิศสำนักงาน หรือโรงงานต่างๆ ควรสังเกตเส้นทางหนีไฟ ทางออกและจดจำตำแหน่งเอาไว้ให้แม่นยำ เมื่อเวลาที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ จะได้พาตัวเองออกจากที่เกิดเหตุได้ทันเวลา จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ประสบภัยหลายรายที่สูญเสียชีวิตลง เพราะไม่ได้จดจำทางหนีไฟเอาไว้ เมื่อเกิดเหตุจึงไม่สามารถหลบหนีได้ทันเวลา
4. กดสัญญาณเตือนภัย
หากเป็นเหตุการณ์เพลิงไหม้เกิดในสำนักงาน ออฟฟิศ หรือโรงงาน ที่ทำงานส่วนใหญ่มักติดตั้งปุ่มกดเตือนภัยเอาไว้ หากพบว่ามีประกายไฟหรือเกิดควันที่ทำให้แน่ใจว่าเกิดไฟไหม้ขนาดใหญ่ ควรรีบกดสัญญาณเตือนภัย พร้อมตะโกนบอกทุกคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นให้ทราบทั่วกัน และให้ออกจากบริเวณอาคารที่มีไฟไหม้โดยทันที
5. โทรศัพท์แจ้ง 199
ในกรณีที่เกิดเหตุไฟไหม้ระดับรุนแรง และกินพื้นที่เป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ในบ้านเรือน ในชุมชน หรือในสำนักงาน รีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เบอร์ 199 พร้อมอพยพออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้โดยทันที
6. ใช้ถังดับเพลิง
ในกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้เพียงเล็กน้อย ใช้ถังดับเพลิงควบคุมเพลิงในเบื้องต้นก่อน แล้วจึงค่อยโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาควบคุมเพลิงในบางส่วนที่อาจหลงเหลืออยู่
ถังดับเพลิงคุณภาพ
FIREMAN PRO เครื่องดับเพลิงชนิดสารระเหย รุ่น BF2000 ขนาด 10 ปอนด์ สีเขียว
ราคา 3,300 บาท พิเศษ 2,730 บาท (SAVE 17%)
IMPERIAL เครื่องดับเพลิงเคมีแห้ง 15 ปอนด์ สีแดง อิมพีเรียล
ราคา 1,460 บาท พิเศษ 1,390 บาท (SAVE 5%)
SATURN ถังดับเพลิงเคมีแห้ง 5 ปอนด์ สีแดง
ราคา 750 บาท
7. ใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก
ในการอพยพออกจากพื้นที่ที่เกิดเพลิงไหม้ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปาก หรือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่อัดอากาศบริสุทธิ์แล้วนำมาครอบศีรษะ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกายที่อาจจะทำให้หมดสติและเสียชีวิต รวมทั้งเมื่อพบควันไฟ ให้หมอบคลานต่ำเพื่อหลบควันไฟ แล้วรีบออกมาจากบริเวณที่มีเพลิงไหม้โดยเร็ว
8. อย่าเปิดประตูทันที
หากเกิดไฟไหม้ด้านนอก และคุณติดอยู่ในห้อง ก่อนออกจากห้องให้ใช้มือสัมผัสผนังหรือลูกบิดประตู หากไม่ร้อนให้เปิดประตูออกไปอย่างช้าๆ และอพยพตามเส้นทางหนีไฟที่ปลอดภัย แต่หากสัมผัสผนังหรือลูกบิด แล้วพบว่ามีความร้อนสูง ห้ามเปิดประตูออกไป เพราะจะตกอยู่ในวงล้อมของกองเพลิงในทันที
9. ห้ามใช้ลิฟท์
ห้ามใช้ลิฟต์ในการอพยพหนีไฟ เพราะเมื่อเกิดเพลิงไหม้ไฟฟ้าจะดับ ทำให้คุณสามารถติดค้างภอยู่ายในลิฟต์ และขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้ แต่ให้ใช้บันไดหนีไฟในการอพยพออกจากอาคารที่มีช่องระบายอากาศ จะสามารถช่วยลดการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกายได้ อย่างไรก็ตามไม่ควรไม่ใช้บันไดภายในอาคารเป็นเส้นทางอพยพหนีไฟ เพราะบันไดมีลักษณะเป็นปล่อง ทำให้ควันไฟและเปลวเพลิงลอยขึ้นมาปกคลุม จึงเสี่ยงต่อการสำลักควันไฟและถูกไฟคลอกเสียชีวิตได้
การเกิดเพลิงไหม้ การมีสตินั้นคือสิ่งสำคัญที่สุด คุณต้องประเมินสถานการณ์ว่าการเกิดเพลิงไหม้แบบนี้สามารถลุกลามได้หรือไม่ คุณสามารถจัดการเองได้มั้ย อย่าทำตัวเป็นฮีโร่ เอาชีวิตเราไว้ก่อน สำคัญต้องจำให้ขึ้นใจ ไฟไหม้โทรสายด่วน 199
ขอให้ปัญหาไฟไหม้ ไม่ว่าจะเกิดจากเหตุผลใด จะเป็นไฟไหม้ภายในบ้านของเรา หรือความผิดพลาดจากส่วนอื่นๆ เช่น หม้อแปลงไฟเก่าหมดอายุการใช้งาน หม้อแปลงไฟระเบิด สายสื่อสารอื่นๆ อยู่ใกล้หม้อแปลงจนเกินไป ขอให้เป็นบทเรียนให้ทุกคนต้องดูแลตัวเอง และต้องรีบแก้ไข เพื่อลดความสูญเสีย และความเสียหายกับพี่น้องชายไทยทุกคน ขอให้ทุกคนปลอดภัยจากเพลิงไหม้ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: cmu.ac.th/safetyinthai.com/pinthong-group.com
Picture credit: pinterest.com/ecology.wa.gov/deccanchronicle.com/howtoadult.sg/checkmatefire.com