ช่วงเวลาแห่งความสุขอีกหนึ่งโมเมนต์ที่ทุกคนในครอบครัวต่างต้องตื่นเต้น นั่นคือการที่สามีภรรยาจะได้ชื่อว่าเป็น ‘คุณพ่อคุณแม่’ กันแล้ว! โดยเฉพาะสำหรับคุณแม่มือใหม่นั้น เชื่อว่าจะต้องรู้สึกเป็นช่วงเวลาที่พิเศษอย่างมากแน่นอน เมื่อได้รู้ว่าภายในร่างกายของว่าที่คุณแม่ กำลังมีเทวดาหรือนางฟ้าตัวน้อยๆ ที่กำลังจะลืมตามาดูโลกภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
แต่หลังจากทราบแล้วสิ่งที่ตามมา นั่นคือความกังวลในเรื่องของการดูแลตัวเองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และของใช้สำหรับลูกน้อยในอนาคตมากมายที่เริ่มเรียงรายกันมาไม่หวาดไม่ไหว และหนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุดที่ใส่ใจมากเป็นพิเศษคือ เรื่องน้ำหนักตัว คุณแม่ส่วนมากจะต้องเริ่มหาข้อมูลกันแล้วว่า ระหว่างตั้งครรภ์จะต้องน้ำหนักเพิ่มเท่าไร ถึงจะดีสำหรับทั้งตัวคุณแม่เองและคุณลูกด้วยเช่นกัน
ในช่วง 1-3 เดือนแรก คุณแม่ท่านใดที่กำลังกังวลอยู่ว่า น้ำหนักไม่เพิ่มขึ้นเลย แล้วอย่างนี้จะเป็นอันตรายต่อลูกหรือไม่ ขอบอกเลยว่าไม่ต้องกังวลใจให้ทุกข์ร้อน เนื่องจากในช่วง 3 เดือนแรกนี้ โดยมากทางสรีระร่างกายของคุณแม่จะยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก จึงเห็นได้ว่าคุณแม่บางท่านยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจะเฉลี่ยไม่เกิน 2 กิโลกรัมเท่านั้น และในส่วนของสารอาหารสำหรับลูก ระยะนี้ตัวอ่อนจะมีอาหารอยู่ในถุงไข่แดง โดยเขาจะรับสารอาหารจากทางนั้น ยังไม่ได้รับสารอาหารจากทางคุณแม่ ฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าลูกจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ สบายใจได้หายห่วง
ถัดมาในช่วงอายุครรภ์เดือนที่ 4-6 รูปร่างของคุณแม่จะเริ่มเปลี่ยน จะดูอวบขึ้น ระหว่างนี้ควรรับประทานโปรตีนให้มาก ลดคาร์โบไฮเดรตให้น้อยลง เพราะโปรตีนเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างการเจริญเติบโตต่างๆ ของทารกในครรภ์ ขณะเดียวกันร่างกายคุณแม่จะนำคาร์โบไฮเดรตไปใช้น้อยลง หากรับประทานมากบวกกับออกกำลังกายน้อย ก็จะทำให้คุณแม่มีโอกาสอ้วนขึ้นได้ง่ายไปแทน แต่อย่างไรก็ตาม อย่ารับประทานอย่างใดอย่างหนึ่งมากไปหรือน้อยไปจนเกินพอดี เพราะอย่างไรร่างกายของคุณแม่ก็ยังต้องการอาหารครบทุกหมู่อยู่เช่นเดิม ในช่วงเดือนที่ 4-6 นี้ น้ำหนักตัวคุณแม่ควรจะเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 4-5 กิโลกรัม กรณีหากอึดอัดกับเสื้อผ้าในชีวิตประจำวัน ก็เริ่มหาเสื้อคลุมท้องมาสวมใส่ให้สบายขึ้นได้จะดียิ่งกว่า
สำหรับในช่วงอายุครรภ์ไตรมาสสุดท้าย 7-9 เดือน น้ำหนักจะเพิ่มมากขึ้นอีกอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากครรภ์เริ่มใหญ่ขึ้น โดยจะเพิ่มประมาณ 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ รวมๆ แล้วตลอด 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด คุณแม่ควรมีน้ำหนักขึ้นเฉลี่ย 5-6 กิโลกรัม หากคุณแม่ท่านใดอยู่ในเกณฑ์นี้ถือว่ากำลังพอเหมาะพอดีมากทีเดียว แต่สำหรับคุณแม่ท่านใดที่รู้สึกว่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของตนเองมากเกินไป ก็อย่าเพิ่งวิตก เพราะอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางสรีระของคุณแม่เป็นทุนเดิม
ในเรื่องของน้ำหนักสำหรับว่าที่คุณแม่ตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์นี้ หากกล่าวอย่างง่ายคือ คุณแม่ที่อ้วนหรือน้ำหนักเกิน น้ำหนักควรจะเพิ่มน้อย และคุณแม่ที่ผอมหรือน้ำหนักตัวน้อย น้ำหนักขณะตั้งครรภ์ก็ควรจะเพิ่มมากขึ้น สามารถแบ่งออกตามหลัก Body Mass Index (BMI) หรือ ดัชนีมวลร่างกาย โดยคุณแม่ตัวเล็ก น้ำหนักควรเพิ่มขึ้นประมาณ 12.5-18 กิโลกรัม ส่วนคุณแม่ที่อวบอ้วน น้ำหนักควรเพิ่มประมาณ 7 กิโลกรัมเท่านั้น ก็จะนับว่าเป็นช่วงน้ำหนักของสตรีมีครรภ์ที่อยู่ในเกณฑ์กำลังดี
ท้ายที่สุด พฤติกรรมการรับประทานของคุณแม่เป็นส่วนสำคัญอย่างจริงจังในเรื่องของน้ำหนักคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ อย่างไรก็ยังต้องเลือกรับประทานอยู่ดี ไม่สามารถตามใจปากไปจากเดิมได้ คุณแม่จะยังต้องควบคุมตนเองให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม เพื่อตัวของคุณแม่เองและลูกน้อยในท้องด้วย สำหรับคุณแม่ท่านใดที่รู้สึกกังวลใจกับน้ำหนักที่เพิ่มมากเกินไป อย่างไรก็ไม่ควรลดน้ำหนักในช่วงตั้งครรภ์ เพราะลูกอาจขาดสารอาหารและมีผลต่อการเจริญเติบโตได้ หากไม่สบายใจจริงๆ ก็สามารถไปปรึกษาคุณหมอเพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุด และควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามที่คุณหมอแนะนำ ผลลัพธ์สุดท้ายที่ดีจะปรากฏตอนที่คุณแม่ก็มีสุขภาพดี และลูกน้อยก็แข็งแรง ส่งเสียงร้องในวัยแรกเกิดที่เรียกรอยยิ้มทั้งน้ำตาด้วยความปลาบปลื้มหัวใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ได้อย่างมีความสุขที่สุด