New Mommy Diary Chapter 9: รู้ทัน 7 โรคภัยที่มักจะเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก

คุณแม่และคุณพ่อมือใหม่ที่มีลูกเล็ก อาจจะสาละวนกับการเลี้ยงดูลูกน้อยด้วยตัวเอง เพราะความที่คุณมีลูกคนแรก ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกพัฒนาการของลูกน้อยต้องผ่านมือ และผ่านสายตาของคุณหมด ถึงแม้ว่าคุณจะมีพี่เลี้ยงเด็กมาคอยเป็นลูกมือ แต่ความที่คุณรัก และหวงแหนลูก ทุกการเคลื่อนไหว ทุกการเจริญเติบโตของลูกน้อย คุณจะคอยอยู่ใกล้ๆ ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเลี้ยงลูกทุกวัน

SICK BABY

มีสิ่งหนึ่งที่คุณแม่และคุณพ่อมือใหม่ต้องทราบ ยอมรับ และคอยตั้งรับกับสถานการณ์สำหรับลูกน้อย เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูก นั่นคือ โรคภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในเด็กเล็ก สำรับคุณแม่และคุณพ่อที่มีลูกเล็กในวัยไม่เกิน 1 ขวบ Central Inspirer มี 7 โรคภัยที่เกิดกับเด็กมาฝาก แนะนำให้คุณแม่และคุณพ่อรู้จัก มาดูกันเลยค่ะ

7 โรคภัยที่มักจะเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก

การเจริญเติบโต และการมีพัฒนาการของเด็กทารกนั้นมักมาพร้อมกับโรคภัยต่างๆ ที่ร่างกายของเด็กเปิดรับกับเชื้อโรคเมื่อร่างกายเจริญเติบโตขึ้น โรคภัยเหล่านี้มีทั้งความร้ายแรง และไม่ร้ายแรงดังต่อไปนี้

1. ไข้หวัด (Common Cold)

1 COLD

เด็กเล็กมักป่วยเป็นไข้หวัดกันบ่อยๆ ปีละหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว การหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กป่วยเป็นไข้หวัดนั้นออกจะเป็นเรื่องยาก เพราะไข้หวัดสามารถเกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสถึงกว่า 200 สายพันธุ์ โดยปกติแล้วเด็กๆ จะมีอาการป่วยเป็นไข้หวัดเป็นเวลา 7-10 วัน และระหว่างที่ภูมิต้านทานของพวกเขากำลังต่อสู้กับเชื้อไวรัส คุณแม่และคุณพ่อควรให้ลูกได้พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะๆ และรักษาร่างกายให้อบอุ่น

อาการของไข้หวัดในเด็กเล็ก

  • เด็กอาจมีไข้ต่ำๆ มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือาจไม่มีไข้เลยก็ได้
  •  มีอาการโยเย และงอแง เพราะรู้สึกไม่สบายตัว 
  • ไอ จาม และมีน้ำมูกไหล ในช่วงแรกจะมีน้ำมูกใสๆ ถ้าเป็นหลายวันสีน้ำมูกจะข้นขึ้น 
  • มีอาการคัดจมูก แน่นจมูก หายใจไม่ออก เบื่ออาหาร ในเด็กเล็กอาจมีอาการงอแงมากกว่าปกติ 

วิธีดูแลรักษาเด็กที่เป็นไข้หวัด

  • ทำร่างกายของลูกให้อบอุ่น โดยเฉพาะหน้าฝน หากพาลูกออกนอกบ้าน ควรพกร่ม หรือเสื้อกันฝนติดตัวไว้ ถ้าหากเปียกฝนก็ต้องรีบเช็ดตัวให้แห้งเร็วที่สุด ไม่ให้เด็กโดนอากาศเย็น 
  • ควรเลี่ยง ฝุ่น ควัน รวมถึงควันรถ และควันบุหรี่ ไม่ควรให้เด็กสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ เพราะจะทำให้ทางเดินหายใจของลูกอักเสบ ทำให้เกิดการติดเชื้อไข้หวัดได้ง่าย
  • หากลูกน้อยมีไข้ และมีอุณภูมิในร่างกายขึ้นสูงเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ลูกอาจมีโอกาสชักได้ ทางที่ดีเมื่อรู้ว่าเด็กเริ่มตัวรุมๆ ควรรีบเช็ดตัว เช็ดหน้า ลำคอ ขา แขน เน้นไปตามข้อพับ และขาหนีบที่เป็นจุดที่มีอุณหภูมิสูง เพื่อระบายความร้อน เช็ดแบบย้อนรูขุมขน ก็จะยิ่งช่วยระบายความร้อนได้ดี เช็ดเสร็จแล้วก็ใส่เสื้อให้เรียบร้อย และอาจหาผ้าชุบน้ำหมาดๆ มาวางบนหน้าผาก ก็จะช่วยลดอุณหภูมิได้ดีขึ้นอีกทางหนึ่ง ทางที่ดีหากลูกน้อยมีตัวร้อนจัด แนะนำให้พาไปพบแพทย์โดยทันที

2. ท้องเสีย (Diarrhea)

2 Diarrhea

เมื่อไหร่ที่ลูกน้อยของคุณเริ่มจะถ่ายท้องแบบเป็นน้ำ หรือของเหลวเกิน 3 ครั้งต่อวัน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าลูกอาจมีอาการท้องเสีย อย่าปล่อยไว้จนเด็กเกิดภาวะขาดน้ำ เพราะนั่นอาจจะทำให้เกิดอาการช็อคได้ ความจริงแล้ว โรคท้องเสียสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การติดเชื้อทางเดินอาหาร มากับอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคปะปน การอักเสบของทางเดินอาหารที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิต้านทานทางเดินอาหารอักเสบ การแพ้โปรตีนในนม มีผื่นผิวหนัง มีน้ำมูก หรือท้องเสียจากเชื้อไวรัสโรต้า ที่ติดมาจากมือหรือพื้นผิวทั่วไปและปะปนมาในอาหาร

อาการท้องเสียในเด็ก

  • ลูกน้อยถ่ายอุจจาระเหลวใส 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน
  • เด็กน้อยมีอาการปวดท้อง งอแง มีอาการซึม ไม่ร่าเริง ดื่มนม หรือรับประทานอาหารได้น้อยลง
  • เด็กมีอาการถ่ายเหลว มีน้ำออกมามากกว่ากากอุจจาระ หรือถ่ายเป็นมูกเลือด 1 ครั้ง หรือมากกว่า
  • ลูกน้อยอาจมีไข้และอาเจียน โดยเฉพาะท้องเสียที่เกิดจากไวรัสโรต้า จะมีอาการอาเจียนอย่างหนักร่วมด้วย

วิธีดูแลเด็กน้อยที่มีอาการท้องเสีย

  • สำหรับทารกที่ยังดื่มนมแม่อยู่ ไม่ต้องหยุดให้นม เพราะนมแม่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกแข็งแรงสู้เชื้อโรคได้
  • หากลูกดื่มนมผสม ให้ชงนมสัดส่วนเท่าเดิม เพิ่มจำนวนมื้อนมให้ถี่ขึ้น แต่ปริมาณดื่มแต่ละมื้อน้อยลงเพื่อให้ลูกยังได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ
  • ลูกที่ดื่มนมผสม หากอาการถ่ายไม่ดีขึ้นหลัง 3 วัน อาจเปลี่ยนเป็นนมที่ปราศจากน้ำตาลแล็กโตส เนื่องจากช่วงท้องเสียเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เล็กส่วนที่ผลิตเอ็นไซม์แลคเตสจะถูกทำลาย โดยให้ดื่มต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากร่างกายสร้างเซลล์เยื่อบุลำไส้ขึ้นใหม่ทดแทนแล้วค่อยกลับมาดื่มนมปกติ
  • ลูกที่เริ่มกินอาหารเสริมในบางมื้อแล้ว ควรให้กินอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย โดยแต่ละมื้อควรป้อนทีละน้อย เพื่อให้ลำไส้ลูกค่อยๆ ย่อยและดูดซึมสารอาหาร นอกจากนี้ควรงดน้ำผลไม้และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากไปก่อน
  • ให้ลูกจิบน้ำเกลือแร่โออาร์เอสบ่อยๆ เพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายเสียไป
  • ไม่ควรให้ลูกกินยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในลำไส้ไม่ถูกขับออกมา และอาจทำให้เชื้อกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ค่ะ
  • หากลูกมีอาการถ่ายไม่หยุด แนะนำให้พาไปพบแพทย์โดยทันที

3. ท้องผูก (Constipation) 

3 constipation

เมื่อทารกมีอาการท้องเสียได้ เขาก็สามารถท้องผูกได้เช่นกัน ในเด็กแรกเกิดส่วนใหญ่ที่กินนมแม่มักจะไม่ค่อยมีปัญหาอาการท้องผูก โดยปกติเด็กจะถ่ายวันละ 4-5 ครั้ง และจะถ่ายออกสีเหลืองๆ เหลวๆ แต่สำหรับเด็กที่กินนมผงก็อาจจะมีอาการถ่ายแข็ง ถ่ายไม่ออก อึดอัดบ้าง แน่นท้องบ้าง คุณแม่ควรลองให้เด็กดื่มน้ำมากขึ้นหรือกินน้ำลูกพรุนผสมน้ำต้มสุกเพื่อช่วยกระตุ้นการขับถ่ายก็จะดี

อาการท้องผูกในเด็ก

  • สังเกตได้ง่ายคือ ลูกน้อยจะถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ในขณะถ่ายท้องเด็กจะเบ่งนาน บางครั้งอาจจะมีอาการท้องอืด แน่นท้องร่วมด้วย 
  • อาจเริ่มมีอาการปวดบริเวณรูทวารหนัก อาจมีแผลปริแตกหรือบวม อุจจาระมีเลือด 
  • หากลูกต้องเบ่งอุจจาระที่มีขนาดใหญ่และแข็ง อาจทำให้ติ่งเนื้อที่ก้นฉีกขาด และเมื่อมีอาการบาดเจ็บที่รูทวาร ทารกน้อยจะมีความกลัวการเข้าห้องน้ำ ส่งผลให้เกิดอาการเรื้อรังตามมา

วิธีดูแลลูกเมื่อมีอาการท้องผูก

  • ให้ลูกดื่มนมวันละไม่เกิน 32 ออนซ์ เพราะนมมีแคลเซียมสูงมักจับกับไขมัน ทำให้เกิดก้อนแข็ง การดื่มนมมากเกินไปมักทำให้ท้องผูก
  • รับประทานอาหารเด็กตามวัย โดยให้อัตราส่วนของข้าว เนื้อสัตว์ และผักผลไม้ เท่ากับ 2:1:1
  • ให้ลูกรับประทานข้าวซ้อมมือ หรือขนมปังโฮลวีต เพราะมีกากใยอาหารมากกว่าข้าวขาว หรือแป้งสาลีขาว จะทำให้ถ่ายง่ายขึ้น
  • ให้ลูกรับประทานผักผลไม้สดที่มีใยอาหารมาก เช่น ส้มทั้งกลีบ ชมพู่ มะละกอ และดื่มน้ำมากๆ
  • พาลูกไปนั่งถ่ายอุจจาระหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ
  • พาออกกำลังกาย เพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งแรง มีแรงเบ่ง ในทารก การนวดหน้าท้องแบบรูปตัว U กลับหัว ช่วยกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนไหวบีบตัวขับอุจจาระออกได้ 
  • กรณีท้องผูกเรื้อรัง อาจต้องให้ยาระบายระยะหนึ่ง เพื่อให้ลำไส้ทำงานได้ปกติ
  • หากพ่อแม่พบว่า ลูกท้องผูก ควรตรวจว่าลูกมีแผลที่ก้นหรือไม่ ถ้าพบแผล ให้นั่งแช่น้ำอุ่นนาน 20 นาที เช้าเย็น ทาแผลที่ก้นด้วยวาสลีน

4. ท้องอืด (Flatulence)

Flatulence

อาการเกี่ยวกับการไม่สบายท้องต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กเล็ก รวมทั้งอาการท้องอืด อึดอัด หรือไม่สบายท้อง ซึ่งเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทารกมีอายุ 2–3 สัปดาห์ โดยเกิดจากการมีแก๊สสะสมในกระเพาะอาหารมากเกินไป ซึ่งอาจเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ดังนี้ ดื่มนมช้าเกินไป ลักษณะของจุกขวดนมหรือหัวนมของมารดา เช่น หัวนมบอด อาจทำให้น้ำนมไหลออกมาน้อยหรือไหลช้า ส่งผลให้ลูกน้อยกลืนอากาศเข้าไปมากขึ้นในระหว่างดูดนมจนทำให้เกิดอาการท้องอืดได้

อาการท้องอืดในเด็กเล็ก

  • ลูกร้องไห้ รู้สึกสบายตัว แต่อาจหยุดร้องได้หลังผายลม หรือเรออกมา
  • เด็กน้อยมักยกขาขึ้นสูงไปทางหน้าท้อง
  • ลูกน้อยมักจะดิ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะหลังจากดื่มนม
  • มีอาการกำมือแน่น และใบหน้าเปลี่ยนเป็นสีแดง

วิธีรักษาอาการท้องอืดในเด็กเล็ก

  • อุ้มลูกน้อยมาแนบอก ให้คางเกยไหล่ แล้วลูบหลังเบาๆ เพื่อไล่ลม 
  • วางทารกในท่านอนหงายแล้วนวดบริเวณหน้าท้องเบาๆ เริ่มจากด้านขวาไปยังด้านซ้าย
  • วางทารกในท่านอนหงาย จากนั้นจับขาทั้ง 2 ข้างขยับขึ้นลงสลับกันคล้ายปั่นจักรยาน
  • ให้ทารกนั่งซ้อนบนตัก โน้มตัวทารกไปด้านหน้าเล็กน้อยโดยใช้มือโอบบริเวณคางเพื่อประคองตัวไว้ จากนั้นใช้มือตบหลังของทารกเบาๆ
  • วางทารกในท่านอนคว่ำบนตัก ให้ศรีษะอยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย แล้วใช้มือตบหลังของทารกเบาๆ
  • อาจห่อตัวทารก ใช้จุกนมหลอก อุ้มทารกแกว่งไปมาเบาๆ หรือไกวเปลให้ เพื่อช่วยให้ทารกผ่อนคลายจากความรู้สึกไม่สบายตัว 

5. ผดผื่น (Rash)

5 RASH

สำหรับลูกน้อยแรกคลอด หรืออายุเพียงไม่กี่เดือน ต่อมเหงื่อยังคงทำงานไม่สมบูรณ์ การขับเหงื่อยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้เกิดผดผื่น ตุ่มแดงๆ น้ำใสๆ หรือเกิดเป็นตุ่มหนองเล็กๆ รวมทั้งการห่อหุ้มลูกน้อยมากเกินไปจะทำให้ร้อน อบชื้น ไม่สบายตัว เกิดผดผื่นได้ 

อาการผดผื่นในเด็กเล็ก

  • ผิวหนังของลูกน้อยมีผื่นแดง และมีอาการคัน
  • มีผื่นขึ้นตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ตามช่วงอายุ เช่น ในเด็กทารก ผื่นมักเกิดที่บริเวณแก้ม หน้าผาก คอ แขนและขาด้านนอก ข้อมือ และข้อเท้าส่วนเด็กโตมักมีผื่นขึ้นตามข้อพับ
  • มีอาการของผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ
  • มีประวัติของคนในครอบครัวสายตรงที่มีอาการภูมิแพ้ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดทางพันธุกรรมได้มาก เช่น โรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ ภูมิแพ้ผิวหนัง หรือหอบหืด เป็นต้น

วิธีรักษาอาการผดผื่นในเด็กเล็ก

  • หากลูกน้อยมีอาการคัน ควรทาแป้งเด็กหรือคาลาไมน์ เพื่อช่วยลดอาการคัน โดยเฉพาะบริเวณขาหนีบและก้น 
  • ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมให้บ่อยขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมม และอับชื้น
  • หมั่นสังเกตอาการและหลีกเลี่ยงสาเหตุของการคัน เช่น พยายามให้ลูกน้อยอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ร้อนชื้นเกินไป สวมเสื้อผ้าที่เหมาะกับฤดูกาลให้ลูกน้อย  
  • เลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่อ่อนโยน ไร้สารตกค้างที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง เพื่อบรรเทาอาการและป้องกันไม่ให้ผดผื่นคัน 

6. ไข้เลือดออก (Dengue Fever)

6 Dengue Fever

ไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีการระบาดเกือบทั้งปี ด้วยสภาพอากาศค่อนข้างร้อนชื้นอย่างประเทศไทยยิ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของยุงโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน สำหรับเด็กเล็ก ควรระมัดระวังโรคไข้เลือดออกเป็นพิเศษ ไม่ควรให้ในบริเวณบ้านมีแหล่งน้ำขัง หรือมีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย 

อาการของไข้เลือดออก

  • หากเด็กเป็นไข้เลือดออก มักจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ 5-8 วัน 
  • มีอาการเป็นไข้ เบื่ออาหาร ไม่ค่อยเล่น และอ่อนเพลีย แถมร้องไห้ โยเยมากผิดปกติ
  • ลูกน้อยมีอาการคลื่นไส้ และอาเจียนอยู่ตลอดเวลา และมีอาการปวดท้องมาก
  • มีเลือดออกมาก เช่น เลือดกำเดาไหล หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
  • กระหายน้ำตลอดเวลา
  • ตัวเย็น สีผิวคล้ำลง หรือตัวลาย
  • ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะนานเกิน 4- 6 ชั่วโมง

วิธีรักษาเด็กที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก

หากพบว่าลูกน้อยมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรพาไปพบแพทย์ทันที และห้ามซื้อยารับประทานเองเด็ดขาด โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่คุณแม่และคุณพ่อไม่สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการเองได้ ต้องพาลูกน้อยไปพบแพทย์โดยทันทีค่ะ

 7. โรคมือ เท้า ปาก (Hand, Foot & Mouth Disease)

7 HAND FOOT MOUTH

เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส หรือ Enterovirus Infections ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคและพบได้บ่อย เช่น คอกซากีไวรัส เอ 16 หรือ Coxsackievirus A16 และเอนเทอโรไวรัส 71 หรือ Enterovirus 71 กลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อยคือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต ถึงแม้อาการของโรคจะไม่รุนแรงนัก แต่ก็เป็นโรคที่สร้างความไม่สบายเนื้อสบายตัวให้กับเด็กๆ ได้มากทีเดียว โดยเฉพาะกับเด็กทารกที่ต้องเผชิญกับตุ่มและผื่นที่ขึ้นตามมือและเท้า มักพบมากในช่วงฤดูร้อน 

อาการของโรคมือ เท้า ปาก

  • อาการเริ่มต้นจะคล้ายไข้หวัด มีตุ่มใส หรือแผลร้อนในเกิดขึ้นหลายแผลในปาก 
  • มีอาการเจ็บในบริเวณที่มีผื่นแดงหรือตุ่มใส ขนาดเล็กที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า หรือก้น
  • มีอาการไข้เป็นระยะเวลา 5-7 วัน มีอาการไอ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลียในเด็กเล็กจะมีอาการงอแงไม่สบายตัว
  • หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายใด อาการป่วยจะทุเลาลง และหายไปในระยะเวลาประมาณ 10 วัน 
  • หากมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ซึมลง ปวดศีรษะมาก ปวดต้นคอ เพ้อ ควรพบแพทย์ทันที

วิธีการดูแลรักษา

ในปัจจุบันโรคมือเท้าปากยังไม่มีการรักษาโดยเฉพาะ การรักษาจึงเป็นการรักษาอาการทั่วๆ ไปตามแต่อาการของผู้ป่วย เช่น เจ็บคอมากอ่อนเพลียจากการขาดอาหารและน้ำ ก็จะให้พยายามป้อนน้ำ นมและอาหารอ่อน ในรายที่อ่อนเพลียมาก อาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด หรือหยอดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนทางสมองและหัวใจ เป็นต้น สิ่งสำคัญที่สุดในกางดูแลเด็กน้อยที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปากคือ 

  • การดูแลรักษาสุขอนามัยที่ดี 
  • หลีกเลี่ยงการให้เด็กน้อยคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ที่อาจมีอาการป่วย
  • รักษาอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้เลี้ยงดูเด็กเล็กควรล้างทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กรับประทาน และให้เด็กน้อยรับประทานอาหารที่สุก สะอาด ปรุงใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม พร้อมดื่มน้ำสะอาด
  • ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  • เมื่อเช็ดน้ำมูกหรือน้ำลายให้เด็กแล้วต้องล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว
  • รีบซักผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระให้สะอาดโดยเร็ว และทิ้งน้ำลงในโถส้วม ห้ามทิ้งลงท่อระบายน้ำ
  • ควรพาลูกไปพบแพทย์ หากพบว่ามีอาการของโรคมือ เท้า ปาก

นอกจากการดูแลลูกน้อยให้ปลอดภัยจากโรคภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในขวบวัยที่ลูกกำลังเจริญเติบโต ต้องไม่ลืมเลือกหา ของเล่นเสริมพัฒนาการ และของใช้จำเป็นที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของลูกน้อยอย่างเต็มที่ที่ Central App ตรียมพร้อมให้คุณช้อปอย่างคุ้มค่า และคุ้มราคาสุดๆ เพื่อลูกรักของคุณจะได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบ 

ของใช้จำเป็น และของเล่นเพื่อเสริมพัฒนาการของลูกน้อย

PHILIPS AVENTPHILIPS AVENT ขวดนมพร้อมจุกนมซิลิโคน เนเชอร์รัล ขนาด 9 ออนซ์ แพ็คพิเศษ 2 แถม 1

ราคา 970 บาท 

ONLY ORGANICONLY ORGANIC อาหารเสริมสำหรับเด็ก Banana Raspberry & Vanilla ขนาด 120 กรัม

ราคา 75 บาท 

MAMYPOKOMAMYPOKO ผ้าอ้อมเด็กแบบเทปกาว ซูเปอร์พรีเมี่ยม ออร์แกนิค เทป ไซส์ NB จำนวน 84 ชิ้น

ราคา 589 บาท พิเศษ 569 บาท (SAVE 3%)

BRIGHT STARTSBRIGHT STARTS ของเล่นตุ๊กตาผ้ากัด รุ่น Abby Lovie Teether Plush

ราคา 1,200 บาท พิเศษ 900 บาท (SAVE 25%)

FISHER PRICEFISHER PRICE เบาะรองนอน พร้อมของเล่นเสริมพัฒนาการ รุ่น DPX75

ราคา 3,500 บาท 

7 โรคภัยที่มักเกิดขึ้นกับเด็กน้อยที่คุณแม่และคุณพ่อควรหมั่นสังเกตการณ์ไว้ บางโรคอาจสามารถดูแลรักษาให้หายเองด้วยการดูแลของคุณแม่และคุณพ่อ หรือเป็นโรคที่ควรนำลูกน้อยไปพบแพทย์ โรคไหนๆ ก็เลวร้ายสำรับคนเป็นแม่เป็นพ่อทั้งนั้น  ดังนั้น หมั่นศึกษาอาการของโรคพื้นฐานต่างๆ ทีอาจเกิดขึ้นกับลูกเรา เข้าใจในสาเหตุของโรค พร้อมดูแลลูกน้อยด้วยความรัก และความเอาใจใส่ ลูกรักของคุณก็จะแข็งแรง ปลอดภัย ร่าเริง แจ่มใส และเติบโตขึ้น เป็นเด็กน้อยที่สมบูรณ์และมีสุขภาพดีค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก: .phyathai.com /  bangkokhospital.com / ruamphat.com

Picture credit: pinterest.com