อันที่จริงแล้วการที่ลูกของเราโดนเพื่อนแกล้ง ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียนหรือที่ไหนก็ตามนั้นเป็นเรื่องที่มีมาช้านานแล้ว ลองนั่งนึกย้อนกลับไปในสมัยที่เราเองยังเป็นเด็ก บางที่เราอาจจะเคยโดนเพื่อนแกล้ง หรืออาจจะเคยแกล้งเพื่อนคนอื่น แต่สมัยก่อนเราก็ไม่เคยกลับบ้านมาฟ้องพ่อแม่ หรือไม่เคยมีใครฟ้องคุณครูว่าโดนเพื่อนแกล้ง
แต่ในสมัยนี้ การกลั่นแกล้งกันของเด็กๆ มีศัพท์ใหม่ที่เรียกกันว่าการโดน “บูลลี่” (Bully) ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งทางวาจา หรือการกระทำใดๆ ที่เป็นการทำร้ายคนอื่นทั้งร่างกายหรือจิตใจ นั่นแหล่ะคือ การ Bully ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เป็นเรื่องไม่ดี และไม่ควรทำ
และหากลูกของคุณโดน Bully คุณคงรู้สึกไม่ดี รู้สึกอารมณ์เสีย ไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับลูกของเรา แล้วเราจะสังเกตได้อย่างไรว่าลูกของเรานั้นกำลังโดนบูลลี่ พร้อมมาหาวิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกกันดีกว่า
สังเกตได้อย่างไรว่าลูกกำลังถูก Bully
มีมากมายหลายวิธีที่คุณสามารถสังเกตพฤติกรรม หรือความเปลี่ยนแปลงของลูกทั้งทางร่างกายและทางจิตใจได้ว่าลูกของเราอาจกกำลังโดนบูลลี่ ดังต่อไปนี้
1. มีรอยฟกช้ำหรือการบาดเจ็บที่บอกที่มาไม่ได้
หากลูกกลับบ้านมาพร้อมริ้วรอย แผลถลอก รอยฟกช้ำ หรือร่องรอยบาดเจ็บอื่นๆ ต้องซักถามลูกด้วยความใจเย็นว่าลูกไปได้ริ้วรอยแบบนี้มาจากที่ไหน เพราะบางทีมันอาจจะเกิดจากการเล่นกับเพื่อน เล่นไม้ลื่น หกล้ม หรือวิ่งเล่นในสนามกับเพื่อนๆ ลองสังเกตริ้วรอยต่างๆ บนตัวลูกทุกๆ วันให้มั่นใจว่าไม่น่าจะใช่ร่องรอยจากการเล่นซน หากลูกมีรอยฟกช้ำกลับบ้านมาใหม่ในทุกวัน แนะนำให้คุณแม่และคุณพ่อรีบปรึกษาคุณครูเลยค่ะ
2. ผลการเรียนของลูกตกต่ำลง
จากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Journal of Early Adolescence ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าการถูกบูลลี่สามารถส่งผลให้เด็กมีผลการเรียนต่ำลงได้ ดังนั้น หากลูกของคุณเคยเป็นเด็กเรียนเก่ง แต่จู่ๆ ผลการเรียนเกิดตกต่ำ กลายเป็นเด็กสอบตก เป็นไปได้ว่าเด็กอาจกำลังถูก Bully จนไม่มีสมาธิกับการเรียนก็เป็นได้
3. พฤติกรรมการนอนเปลี่ยนไป
เหยื่อของการ Bully มักมีความรู้สึกกดดันและมีความกังวลใจ ซึ่งส่งผลร้ายต่อพฤติกรรมการนอนและสุขภาพจิตของเด็ก หากลูกของคุณมีอาการนอนไม่หลับ นอนฝันร้าย หรือนอนกระสับกระส่ายผิดปกติตลอดทั้งคืน นั่นอาจเป็นพฤติกรรมที่เชื่อได้ว่าลูกของคุณกำลังถูกบูลลี่อยู่ค่ะ
4. นิสัยการรับประทานเปลี่ยนไป
เด็กที่ถูก Bully อาจมีพฤติกรรมการรับประทานที่น้อยลง รับประทานอะไรก็ดูไม่อร่อยเหมือนเคย และอาจจะดูยิ่งอันตรายขึ้นไปอีก หากโดยปกติลูกมีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวอยู่แล้ว ชอบรับประทานอยู่แล้ว แต่จู่ๆ หยุดการรับประทาน อาจส่งผลให้ลูกมีพฤติกรรมในการรับประทานที่ผิดปกติ และเจ็บป่วยได้
5. ลูกทำร้ายตัวเอง
อันนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเหยื่อของการถูก Bully มีแนวโน้มที่จะทำร้ายตนเองสูง ถ้าลูกของคุณเริ่มพยายามหนี หดหู่หรืออยากฆ่าตัวตาย นั่นอาจเป็นสาเหตมาจากการถูกบูลลี่บ่อยๆ โดน Bully มาเป็นเวลานาน และเก็บเงียบไม่บอกใคร คุณแม่และคุณพ่อก็สังเกตไม่เห็น ซึ่งมันก่อให้เกิดเหตุอันตราย คุณแม่และคุณพ่อควรหมั่นสังเกตว่าลูกมีพฤติกรรมอย่างไร เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเองหรือเปล่า หรือลูกได้พูดจาแสดงความกังวลใจอะไรบางอย่างออกมาบ้างหรือไม่ จับสังเกตลูกให้ได้นะคะ
6. ลูกเริ่มพฤติกรรมขโมยข้าวของ
หากอยู่ดีๆ ลูกเริ่มมีพฤติกรรมผิดปกติ เริ่มขโมยเงินทอง โขมยของมีค่าของคุณหรือคนในบ้าน รวมถึงตัวลูกเองเริ่มทำของหาย ทำของพัง หรือโดนโขมยข้าวของไปบ่อยขึ้น ทั้งหมดนี้อาจเป็นผลมาจากการถูก Bully ทั้งสิ้น
7. ลูกเริ่มไม่สุงสิงกับเพื่อนและครอบครัว
เด็กๆ ที่ถูกบูลลี่มักคิดว่า ปัญหาของเขาไม่มีใครช่วยเขาได้ ทำให้เขาไม่อยากเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ใครฟัง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คุณครู หรือแม้แต่คุณแม่และคุณพ่อ ลูกเลยชอบใช้เวลาอยู่คนเดียวลำพังเสียเป็นส่วนใหญ่
8. ลาป่วยบ่อยๆ
นอกเหนือจากการแกล้งทำเป็นป่วยเพื่อหาเหตุที่ไม่ต้องไปโรงเรียนแล้ว หัวโจกในการ Bully ยังอาจหาวิธีทำให้เหยื่อ หรือลูกของคุณบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยได้จริงๆ อีกด้วย เช่น แกล้งจนทำให้ป่วยเป็นไข้หวัด ปวดท้อง ปวดหัว หรือพาลแขน และขาหัก เป็นต้น
วิธีเสริมภูมิคุ้มกันเมื่อลูกโดนบูลลี่
เมื่อคุณแม่และคุณพ่อมั่นใจว่าลูกของคุณต้องโดน Bully ที่โรงเรียนอย่างแน่นอนด้วยพฤติกรรมต่างๆ ที่ลูกได้แสดงออกดังที่กล่าวไปข้างต้น คุณแม่และคุณพ่อได้แจ้งให้คุณครู และที่โรงเรียนทราบแล้ว เจอตัวเพื่อนที่ชอบบูลลี่ลูกแล้ว แก้ไขปัญหาต่างๆ แล้ว การเสริมความมั่นใจให้ลูกมีความสำคัญมาก เพื่อให้ลูกไม่ต้องกลัวการถูก Bully ให้ลูกเต็มไปด้วยความมั่นใจ รู้จักป้องกันตัว ให้ลูกใช้ชีวิตในโรงเรียนได้อย่างมีความสุข และเพื่อให้เมื่อเติบใหญ่ลูกจะได้เข้าสังคมได้ มีสัมพันธภาพที่ดึกับผู้อื่น และไม่โดนคนอื่นกลั่นแกล้งได้อีก เราควรเสริมภูมิคุ้มกันการโดนบูลลี่ให้ลูกดังนี้
1. ให้กำลังใจเมื่อลูกถูก Bully
เป็นที่ทราบกันดีว่าคุณแม่และคุณพ่อเป็นที่พึ่งทางกายและใจของลูก ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ จากการโดนบูลลี่ คุณแม่และคุณพ่อต้องคอยให้กำลังใจลูก คอยรับฟัง คอยสอบถามและแสดงอาการเป็นห่วงลูก ให้ลูกมองเห็นว่าคุณแม่และคุณพ่อเป็นห่วงลูกมากที่สุด ให้ความคุ้มครอง ทำให้ลูกปลอดภัย และไว้ใจได้มากที่สุด คุณแม่และคุณพ่อคอยกำลังใจลูก ซึ่งจะช่วยให้ลูกมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น แข็งแรงขึ้น ช่วยให้เค้าผ่อนคลายจากสิ่งที่เค้ากลัว เป็นกังวล และพบเจอจากการถูก Bully
2. คุณแม่และคุณพ่อควรเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับลูก
คุณแม่และคุณพ่อควรมีส่วนช่วยในการแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ลูกต้องเจอะเจอจากการถูกบูลลี่ ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำลูกให้แจ้งคุณครู หรือผู้ใหญ่ทุกครั้งที่ถูกแกล้ง หรือถูก Bully รวมทั้งบอกลูกให้ห้ามปิดบัง ต้องแจ้งคุณแม่และคุณพ่อทุกครั้ง สอนลูกให้เข้าใจว่าที่ลูกโดนบูลลี่นั้น ลูกไม่ได้ทำอะไรผิด มันไม่ใช่ปัญหาของลูก แต่เป็นปัญหาของเพื่อนที่กลั่นแกล้งลูกต่างหาก ดังนั้น ลูกต้องเข้มแข็ง ไม่ต้องหวาดกลัว ต้องมั่นใจ คุณแม่และคุณพ่อควรจะรับฟังเรื่องราวต่างๆ ของลูกอย่างตั้งใจ และเข้าอกเข้าใจ พร้อมหาทางแก้ปัญหา อย่าเพียงแต่ฟังอย่างเดียวแล้วปล่อยผ่านไปค่ะ
3. คุณพ่อและคุณแม่ต้องมีสติในการแก้ปัญหา
ถึงแม้ว่าการกลั่นแกล้งรังแกจะเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่คุณแม่และคุณพ่อก็ต้องยอมรับว่าสำหรับเด็กๆ แล้วการกระทบกระทั่ง ผิดใจ หรือใช้ความรุนแรงเล็กๆ น้อยๆ อาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจและเป็นไปตามกระบวนการหนึ่งของการเจริญเติบโต ดังนั้น หากพบว่าลูกเป็นฝ่ายโดยแกล้งหรือเป็นคนที่รังแกคนอื่น คุณแม่และคุณพ่อควรใจเย็นและตั้งสติ ไม่ควรใช้วิธีรุนแรง ตำหนิ หรือต่อว่าให้ลูกอับอายต่อหน้าคนอื่น เพราะอาจทำให้เกิดบาดแผลใหม่ในใจลูกได้ ควรหาทางพูดคุยกับลูก ปรึกษาคุณครู หรือนักจิตวิทยาเด็กเพื่อช่วยกับหาทางแก้ไขอย่างเหมาะสมต่อไป
4. ส่งเสริมให้ลูกมองเห็นคุณค่าของตัวเอง
เด็กแต่ละคนจะมีวิธีรับมือและความอดทนต่อการถูกกลั่นแกล้งไม่เท่ากัน และเด็กก็ไม่สามารถรับมือกับความอึดอัดและกดดันได้ดีเท่าผู้ใหญ่ หากลูกไปโรงเรียนแล้วเกิดปัญหาโดน Bully โดนเพื่อนแกล้ง หรือเพื่อนล้อเลียนให้อับอาย ลูกอาจเกิดอาการไม่อยากไปโรงเรียน กลัวคนแปลกหน้า และสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง คุณแม่และคุณพ่อควรเป็นคนที่คอยเติมความมั่นใจให้ลูกด้วยการทำให้ลูกมองเห็นข้อดีของตัวเอง คุณค่าของตัวเอง และภาคภูมิใจในตัวเอง หากลูกมีความมั่นใจในตัวเองมากพอ ก็จะสามารถปกป้องจิตใจตัวเองไม่ให้หวั่นไหวจากการถูกล้อเลียนหรือลดทอนคุณค่าจากคนอื่นได้
5. สอนให้ลูกเข้มแข็งแต่ไม่ก้าวร้าว
คุณแม่และคุณพ่อบางคู่ไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กอ่อนแอในสายตาคนอื่น จึงพยายามสอนให้ลูกรู้จักตอบโต้กลับเมื่อถูกรังแก แต่ในทางหลักจิตวิทยาแล้ว เด็กที่ชอบแกล้งเพื่อนเพราะรู้สึกว่าตัวเองดีกว่าหรือเก่งกว่า ดังนั้น คุณแม่และคุณพ่อไม่ควรสอนให้ลูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง แต่ควรสอนให้ลูกรู้วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เช่น บอกเพื่อนว่าไม่ชอบให้ทำอย่างนี้ หรือให้ลูกกล้านำเรื่องราวที่โดน Bully ไปเล่าให้คุณครู ผู้ใหญ่ หรือคุณแม่และคุณพ่อฟัง
6. สอนให้ลูกมีทักษะในการเข้าสังคม
ทักษะการเข้าสังคม หรือ Social Skills คือ ความสามารถในการปรับตัว และใช้ความสามารถของตัวเองสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งทักษะการเข้าสังคมจะช่วยทำให้ลูกสามารถเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ ให้ลูกรู้จักยอมรับในความแตกต่าง และปรับตัวเข้าหาผู้อื่นได้ คุณแม่และคุณพ่อสามารถฝึกให้ลูกมีทักษะในการเข้าสังคมได้ผ่านการเล่น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นจำลองสถานการณ์ เล่นบทบาทสมมติ หรือพาลูกไปเล่นกับเพื่อนต่างเพศต่างวัยบ่อยๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ลูกรู้วิธีปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นได้
7. คุณแม่และคุณพ่อควรใส่ใจดูแลสุขภาพจิตและสุขภาพกายของลูก
สภาพร่างกายและจิตใจของลูกเป็นสิ่งที่สำคัญ หากลูกถูก Bully สภาพร่างกายและจิตใจจะเป็นสิ่งที่กระทบต่อตัวลูกในระยะยาว ซึ่งหากพบเห็นว่าลูกมีพฤติกรรมผิดปกติ มีท่าทีไม่ดี ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ หรือพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและจิตวิทยาเด็กโดยตรง เพื่อช่วยเยียวยาจิตใจของลูก และแก้ปัญหาที่ลูกพบเจออย่างตรงประเด็นและถูกต้องที่สุด
8. ทำบ้านให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยอยู่เสมอ
เด็กที่มีความอบอุ่นและปลอดภัยในครอบครัว จะสามารถรับมือกับปัญหาการโดนกลั่นแกล้งที่พบเจอนอกบ้านได้ดีกว่าเด็กที่บ้านขาดความเข้าใจและความอบอุ่น คุณแม่และคุณพ่อควรให้ความรักและห่วงใยลูก ควรเปิดใจรับฟังปัญหาของลูก ให้อภัยและให้โอกาส ไม่ตัดสินลูก ไม่ใช้อารมณ์กับลูก เพื่อให้ลูกเกิดความไว้ใจและสบายใจที่จะบอกเล่าเรื่องราวทุกเรื่องที่เจอให้ฟัง
คาดว่ามีหลายครอบครัวที่ลูกอาจกำลังประสบปัญหาการโดนกลั่นแกล้ง หรือการโดน Bully แต่อยากให้คุณแม่และคุณพ่อรับรู้เรื่องราวของลูกด้วยความเข้าใจ อย่าใช้อารมณ์ตัดสิน รวมทั้งยื่นมือขอความช่วยเหหลือให้ถูกทาง ความรัก ความใกล้ชิด และความห่วงใยลูกจะเป็นพลังในการช่วยลูกของเราให้ก้าวผ่านปัญหาถูกบูลลี่ไปได้ ช่วยให้ลูกเติบใหญ่อย่างมั่นใจ เข้าสังคมได้ และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข Happy Parenting ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : trueid.net/globish.co.th/aboutmom.co
Picture credit : pinterest.com