ไม่นับการระบาดของโควิด-19 หรือโรคร้ายต่างๆ อย่างโรคมะเร็ง โรคไต หรือโรคหัวใจ โรคซึมเศร้าถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่มีอัตราผู้ป่วยสูงขึ้นมากในประเทศไทย ถึงโรคซึมเศร้าจะไม่ใช่โรคระบาด แต่สามารถสร้างสถิติให้คนไทยฆ่าตัวตายจากโรคนี้เพิ่มขึ้นทุกปีจากหลากหลายปัจจัย เช่น ปัญหาส่วนตัว ปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ปัญหาด้านเศรษฐกิจ แม้แต่ปัญหาเรื่องการระบาดของโควิด-19 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็สามารถทำให้คนคิดสั้นฆ่าตัวตายได้
ในปัจจุบันคนไทยมีความเครียดมากขึ้นจากหลากหลายปัญหารุมเร้า โรคซึมเศร้านั้นเป็นโรคที่มองไม่เห็น หากไม่ไปพบแพทย์คงไม่ทราบว่าเรามีอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่ แล้วโรคซึมเศร้ามันคืออะไร มีอาการอย่างไร ที่สำคัญหากคุณมีคนใกล้ชิด หรือคนรู้จักมีอาการของโรคซึมเศร้าเราควรหรือไม่ควรพูดคุย และปฏิบัติตัวกับเขาอย่างไร ทำอย่างไรให้เขาไม่คิดสั้น และอยู่สู้โลกต่อไปได้อย่างมีความสุขขึ้น
โรคซึมเศร้าคืออะไร
โรคซึมเศร้า (Clinical Depression) คือ ภาวะซึมเศร้าที่มีมากกว่าอารมณ์เศร้า เป็นพยาธิสภาพแบบหนึ่งที่พบได้ในหลายๆ โรคทางจิตเวช โรคซึมเศร้าคือ ความผิดปกติของการหลั่งสารเคมีในสมองส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ ทำให้พฤติกรรมของผู้ป่วยเปลี่ยนไปจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน กลายเป็นคนมองโลกในแง่ลบ มีความเศร้า หม่นหมองหดหู่อยู่ตลอดเลา มักจะเป็นคนที่เก็บเนื้อเก็บตัว รู้สึกเบื่อหน่ายกับสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยสนุกหรือสบายใจ
โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักแสดงอาการดังต่อไปนี้ จะมากกว่าหรือน้อยกว่าอยู่ที่อาการซึมเศร้านั้นรุนแรง หรือมีอาการสะสมอยู่นานแค่ไหนโดยที่ผู้ป่วย และคนใกล้ชิดรอบตัวไม่ทราบว่าอาการนั้นๆ คืออากการของโรคซึมเศร้า และผู้ป่วยยังไม่เคยไปปรึกษาแพทย์
- มีความเบื่อหน่ายชีวิต อยากอยู่นิ่งๆ ทิ้งดิ่ง ไม่อยากทำอะไร
- มีความเครียดสะสมอยู่ตลอดเวลา เรื่องเล็กน้อยก็สามารถนำมาเครียดได้
- มีความกังวลใจอย่างไรสาเหตุ
- มีอารมณ์ซึมเศร้าอยู่ตลอดเวลา รู้สึกท้อแท้ และไม่มีความสุข
- นอนไม่ค่อยหลับ หรือไม่ก็นอนหลับมากจนเกินไป
- เหนื่อยง่าย ห่อเหี่ยว เรี่ยวแรงไม่มี
- มองโลกในแง่ร้าย มองทุกอย่าง และทุกคนในแง่ลบ
- รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่ได้มีประโยชน์ต่อตัวเองหรือคนรอบตัว
- ไม่มีสมาธิ มักมีอาการใจลอย เหม่อลอยอยู่บ่อยๆ
- เคลื่อนไหวเชื่องช้า หรือบางทีก็จะมีอาการกระสับกระส่าย อยู่ไม่สุขตลอดเวลา
- มีความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง หรืออยากฆ่าตัวตายวนอยู่ในหัวตลอดเวลา
หลายคนอาจมีอาการเหล่านี้ หรืออาจมีอาการเป็นบางข้อ ไม่ได้เป็นหมดทุกข้อ ก็อย่าเหมารวมว่าตัวเองกำลังมีอาการของโรคซึมเศร้า แต่หากคุณมีอาการส่วนมากแบบนี้เกือบทุกวันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะคุณอาจมีอาการเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า หากปล่อยให้โรคทวีความรุนแรงขึ้น อาจมีโมเม้นท์ที่คุณคิดสั้น และเลือกทางออกด้วยการจบชีวิต เพราะคนที่เป็นโรคซึมเศร้าสามารถตัดสินใจฆ่าตัวตายได้ง่ายกว่าคนปกติดทั่วไปถึง 20 เท่าเลยทีเดียว
หากคุณไม่ได้มีอาการของโรคซึมเศร้า สดชื่น สุขภาพจิตดีแต่พบว่าคนใกล้ตัว เพื่อน หรือญาติสนิทของคุณมีอาการของโรคซึมเศร้า เราควร หรือไม่ปฏิบัติตัวและพูดคุยกับเขาอย่างไร เพื่อให้อาการซึมเศร้าของเขาลดน้อยลง
สิ่งที่ควรและไม่ควรทำเมื่อมีคนรู้จักเป็นโรคซึมเศร้า
สิ่งที่ควรทำกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
1. ชวนผู้ป่วยทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหว
คนที่มีอาการของโรคซึมเศร้ามักชอบเก็บตัว หมกตัวอยู่คนเดียวที่บ้าน ไม่ชอบพบปะผู้คน สิ่งที่คุณสามารถทำได้คือ ชวนผู้ที่ป่วยโรคซึมเศร้าทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน ทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว และน่าสุกสนาน เช่น ชวนเล่นกีฬา ชวนเล่นเกมที่คิดว่าเขาน่าจะสนใจ ชวนทำงานศิลปะ งานฝีมือต่างๆ ชวนทำขนม ทำอาหาร แม้แต่ชวนแกมบังคับให้ออกนอกบ้านไปช้อปปิ้ง หรือไปซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะการทำกิจกรรมต่างๆ นอกจากจะช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยหลั่งสารเอ็นโดฟินที่ช่วยสร้างความสุขออกมาแล้ว ยังช่วยลดความเครียดความหดหู่ และความคิดฟุ้งซ่านไปได้อีกด้วย
2. ปิดปากและเปิดใจรับฟัง
สิ่งที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องการมากที่สุดคือ ใครสักคนที่อยู่เคียงข้าง คนที่เข้าใจและพร้อมรับฟังปัญหาของพวกเขา ดังนั้นคุณควรรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่กดดัน และไม่ตัดสิน หากคนใกล้ตัว หรือเพื่อนของคุณเป็นโรคซึมเศร้า คุณควรถามหรือกระตุ้นให้เขาเล่าในสิ่งที่เขาไม่สบายใจ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องแสดงความเห็นใดๆ ไม่เสนอแนะ ไม่ตัดสิน เพียงรับฟังเขาอย่างตั้งใจให้ได้มากที่สุด
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักคิดอยู่เสมอว่าตัวเองเป็นภาระของผู้อื่น การจะให้ผู้ป่วยระบายความรู้สึกในใจ จึงต้องให้เขารู้สึกว่ามีคนอยากรับฟังเขาอยู่จริงๆ ไม่กดดัน ไม่ตัดสิน และต้องสร้างความไว้วางใจ ซึ่งการฟังที่ดีจะช่วยให้เราเก็บข้อมูลไว้ใช้สำหรับการป้องกันและรักษาได้ด้วย คุณควรสร้างความมั่นใจ ความไว้วางใจ พูดคุยกับผู้มีอาการโรคซึมเศรา้ในบรรยากาศที่สบายๆ ให้ผู้ป่วยได้เล่าสิ่งที่อยากพูดออกมาเต็มที่ เพราะในบางครั้งเขาอาจมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรืออยากตาย หากคนรอบข้างได้มีโอกาสรับฟัง จะได้สามารถป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที
3. ชี้ให้ผู้ป่วยเห็นถึงข้อดีของตัวเองเสมอ
คนที่มีอาการของโรคซึมเศร้ามักมองเห็นตัวเองเป็นภาระให้กับคนรอบตัว แฟน ญาติพี่น้อง หรือเพื่อน มักคิดว่าตัวเองเป็นคนไร้ค่า ไร้ประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม มักมีความรู้สึกท้อแท้ต่อชีวิต ดังนั้นหากคุณดูแลผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้า ต้องทำให้เขามองเห็นข้อดีของตนเอง มองเห็นคุณค่าของตัวเองซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาโรคนี้เลยก็ว่าได้ เมื่อผู้ป่วยมองเห็นว่าชีวิตของเขาสำคัญและมีคุณค่ากับเพื่อน กับคนรัก กับครอบครัว หรือกับสังคม ผู้ป่วยจะได้มีกำลังใจสู้ต่อและอยากใช้ชีวิตต่อไป
4. อย่าปล่อยให้เก็บตัว
อีกหนึ่งหนทางที่สามารถทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความรู้สึกดีขึ้นได้คือ การพาเขาออกไปเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง โดยปกติผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะเก็บตัว หมกตัวอยู่กับบ้าน มักปลีกตัวออกจากสังคม ต้องพยายามไม่ปล่อยให้เขาอยู่คนเดียว โดยพาเขาออกมาเดินเล่น หรือออกไปกินข้าวนอกบ้านบ้าง พาไปเที่ยวสถานที่สวยๆ ที่น่าสนุกสนาน ไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ได้สูดโอโซน ได้สัมผัสกับบรรยากาศดีๆ จะสามารถช่วยให้เขาผ่อนคลายจิตใจได้อย่างดีเลยทีเดียว
สิ่งที่ไม่ควรทำกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
1. ไม่ควรตีตัวออกห่าง หรือบอกปัด
โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ใช่โรคที่น่ารังเกียจ โดยปกติผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะรู้สึกว้าเหว่ ชอบปลีกตัวออกจากคนอื่น รู้สึกเป็นภาระต่อผู้อื่น รู้สึกว่าไม่มีที่พึ่งพิงอยู่แล้ว หากคุณพยายามทอดทิ้ง ตีตัวออกห่าง บอกปัดเมื่อเขาของความช่วยเหลือ หรืออยากระบายความรู้สึกด้วย โดยคุณคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ จะกลายเป็นการตอกย้ำความรู้สึกโดดเดี่ยวของผู้ป่วย และทำให้ผู้ป่วยเกิดความคิดที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อได้
2. ไม่ควรพูดจาเปรียบเทียบ
มีคำพูดหลายคำที่คุณไม่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพราะโดยปกติผู้ป่วยมักมีอาการจิตตก และมีอาการทางจิตดิ่งลงไปโดยที่เราเองไม่รู้ว่าคำพูด หรือการกระทำของเราจะกระทบกระเทือนจิตใจของเขา ดังนั้นควรเลิกคำพูดเชิงเปรียบเทียบว่า “ดูสิ…คนนั้นเขาลำบากกว่าตั้งเยอะ เขายังไม่เศร้าเลย” คำพูดแบบนี้ไม่ได้ช่วยปลอบประโลมผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้เลย และเราไม่ควรเร่งรัดที่จะทำให้เขาหายจากอาการป่วย ควรพยายามให้ความรักความใส่ใจและเข้าใจเขาก็เพียงพอ
3. ห้ามพูดคุยเรื่อง “ความตาย” อย่างเด็ดขาด
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากับความตายมักเป็นของที่อยู่กันคนละขั้ว ดังนั้นไม่ว่าจะมีข่าวความตายของคนมีชื่อเสียง ญาติพี่น้อง เพื่อน หรือข่าวคราวเรื่องอุบัติเหตุร้ายแรงต่างๆ ไม่ควรนำทอปปิกนี้มาพูดคุยกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือใครก็ตามที่คุณรู้สึกว่าเขาดูมีอาการของโรคอย่างเด็ดขาด การพูดคุยเรื่องความตายอาจทำให้สภาวะจิตใจของผู้ป่วยรู้สึกแย่ลงได้
4. อย่ากดดัน เร่งรัด หรือตัดสิน
ความกดดันเป็นอีกหนึ่งแฟคเตอร์สำคัญที่เพิ่มความเครียดให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อย่ากดดัน เร่งรัด หรือตัดสินการกระทำใดๆ ของผู้ป่วยด้วยคำพูดหรือการกระทำของคุณที่จะผลักดันให้ผู้ป่วยมีอาการแย่หนักลงกว่าเดิม
ตัวอย่างคำพูดที่ควร และไม่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
คำพูดที่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
- ขอกอดหน่อยได้มั๊ย
- จำไว้นะ…เธอไม่ได้อยู่คนเดียว
- อย่าลืมนะ … เธอเป็นคนสำคัญสำหรับฉันเสมอ
- ฉันอาจไม่เข้าใจเธอ …แต่ฉันจะอยู่ข้างๆ เธอนะ จำไว้
- พี่รักเธอมากนะ … อดทนเอาไว้
- ออกไปเดินเล่นสูดอากาศดีๆ กันไหม
- เชื่อฉัน … อีกไม่นานเธอก็จะดีขึ้น
- ฉันก็ไม่รู้หรอกนะว่าเธอรู้สึกไม่โอเคแค่ไหน แต่ฉันยินดีทำความเข้าใจมันนะ
- พวกเราจะไม่มีวันทิ้งเธอ เราจะอยู่ข้างๆ เธอเสมอ จำไว้
- เธอไม่ได้เป็นบ้านะ … เธอก็แค่เศร้า ใครๆ ก็เศร้ากันได้
- จำไว้ … พี่รักเธอเสมอ ไม่ว่าเธอจะเป็นอย่างไรก็ตาม
- พี่เห็นแล้วว่าเธอกำลังพยายาม …มีอะไรที่ให้พี่ช่วยได้บ้าง บอกมาเลย
คำพูดที่ควรหลีกเลี่ยงกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
- หัดมองโลคในแง่ดีบ้างซิ
- เรื่องแค่นี้ทำไมถึงทำไม่ได้
- อย่าคิดมากเลย ขอร้องหล่ะ
- สู้ๆ นะ
- ถ้าไม่อยากรู้สึกแบบนี้ เธอก็ต้องเลิกคิดซิ
- ไม่เป็นไรหรอก … เดี๋ยวมันก็ผ่านไป
- นี่เธอจะเศร้าไปถึงไหนกัน
- อะไรกัน … ทำไมยังไม่หายอีก
- ฉันเข้าใจนะว่าเธอรู้สึกอย่างไร … ฉันเองก็เคยเป็น
- พอเหอะ … เลิกเศร้าได้แล้ว
- ความรู้สึกพวกนี้มันอยู่แค่ในความคิดเธอคนเดียว
- ทำใจห้สบายเถอะ พวกเราทุกคนต่างก็เคยผ่านช่วงเวลาแบบนี้มาแล้ว
- หัดคิดบวกบ้างสิ
- ชีวิตเธอยังมีคุณค่าอีกมากมาย ทำไมถึงอยากคิดสั้น
- ฉันช่วยอะไรเธอไม่ได้จริงๆ
- เธอมีปัญหาอะไร … ยังไม่ดีขึ้นอีกเหรอ
- ตั้งสติหน่อยสิ เธอเป็นแบบนี้มานานเกินไปแล้ว
- ฉันไม่ชอบพฤติกรรมที่เธอทำอยู่ตอนนี้เลย
- รู้หรือเปล่าว่ายังมีคนอื่นที่แย่กว่าเธออีก
- ฉันรู้ว่าตอนนี้เธอรู้สึกอย่างไร
- หยุดร้องไห้ จะร้องไห้ไปทำไม
- พยายามหน่อย แค่นี้ทำไมทำไม่ได้
สังเกตได้ว่ามีคำพูดมากมายที่ดูเหมือนว่าเป็นคำพูดที่ให้กำลังใจ แต่กลับกลายเป็นคำพูดที่สร้างความกดดันให้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ แสดงออกด้านกระทำหากคุณไม่แน่ใจว่าจะเลือกใช้คำพูดแบบไหนแล้วจะดี จะไม่เป็นการผลักไส และกดดันผู้ป่วยมากขึ้น ใช้การกระทำของคุณให้เป็นคำพูด ส่งความปรารถนาที่ดี ปิดปากและเปิดใจ อยู่เคียงข้าง ไม่ไปไหน พร้อมรับฟังให้เขาระบาย อย่าเบื่อหน่าย ดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาที่แพทย์สั่งให้ตรงเวลาและสม่ำเสมอ ใช้หัวใจของคุณรักษา เชื่อว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคนนั้นน่าจะเป็นหนึ่งที่โชคดีที่สุดที่มีคุณอยู่เคียงข้าง คอยรับฟัง ไม่ตัดสิน เพื่อให้เขาทุเลาและกลับมามีชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก: phukethospital.com / helpguide.org / dmh.go.th / krungsri.com
Picture credit: pinterest.com / gendermed.org