ความเชื่อ หรือ Common Belief เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาเป็นเวลาช้านาน เป็นสิ่งที่คอยเตือนใจคนไทยให้ฉุกคิดกับสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา สิ่งที่คนโบราณ หรือผู้หลักผู้ใหญ่สั่งสอนเอาไว้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันหลายความเชื่อเริ่มเลือนลางและจางหายไปจากคนไทย แต่หากบ้านใหนมีผู้เฒ่าผู้แก่ มีผู้อาวุโส หรือปู่ย่าตายายอาศัยอยู่ภายในบ้าน ความเชื่อแต่โบราณอาจถูกสานต่อมาสู่คุณ
แม้ว่าความเชื่อโบราณหลากหลายเรื่องกำลังถูกลืมหายไป วันนี้ Central Inspirer อยากมาชวนคุณมาสายมูนิดๆ ด้วยการพูดคุยเกี่ยวกับความเชื่อว่าความเชื่อนั้นคืออะไร พร้อมมารื้อฟื้น ทำความรู้จักกับ 15 ความเชื่อของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเกี่ยวกับบ้าน สัตว์ หรือคนที่หลายคนคงได้ยินจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่คอยตักเตือนและพูดถึงอยู่บ่อยๆ แต่ก็ควรทำความเข้าใจกับแต่ละความเชื่อให้ถูกต้อง
“ความเชื่อ” คืออะไร
ศาสตราจารย์ ธวัช ปุณโณทก อดีตอาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น สาขาภาษาและวรรณกรรมไทย ได้กล่าวถึงความเชื่อไว้ว่า ความเชื่อ คือ การยอมรับอันเกิดอยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์ต่อพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ ที่เป็นผลดีหรือผลร้ายต่อมนุษย์นั้นๆ หรือสังคมมนุษย์นั้นๆ แม้ว่าพลังอำนาจเหนือธรรมชาติเหล่านั้น ไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง แต่มนุษย์ในสังคมหนึ่งยอมรับและให้ความเคารพเกรงกลัวสิ่งเหล่านี้ เรียกว่าความเชื่อ ฉะนั้นความเชื่อจึงมีขอบเขตกว้างขวางมาก ไม่เพียงแต่จะหมายถึงความเชื่อในดวงวิญญาณทั้งหลาย (Believe in spiritual beings) ภูตผี คาถาอาคม โชคลาง ไสยเวทต่างๆ ยังรวมถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มนุษย์ยอมรับนับถือ เช่น ต้นไม้ (ต้นโพธิ์ ต้นไทร) หรือป่าเขา เป็นต้น
15 ความเชื่อโบราณ VS ความจริง
1. จิ้งจกร้องทัก
ความเชื่อโบราณ:
คนโบราณเชื่อว่า หากจิ้งจกร้องทัก ห้ามออกจากบ้านเด็ดขาด โดยเฉพาะถ้าเสียงนั้นอยู่ด้านหลังหรือตรงศีรษะ ให้เลื่อนการเดินทางออกไป แต่หากเสียงร้องทักอยู่ด้านหน้าหรือซ้าย ก็สามารถเดินทางได้ จะทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่นสะดวกสบาย
ความจริง:
ในปัจจุบัน ถึงจิ้งจกจะพบได้ง่ายภายในบ้านเรือนมากกว่าตุ๊กแก แต่จิ้งจกก็ดูเหมือนจะหายากขึ้นทุกที สังเกตได้ว่าเวลาเราอยู่บ้าน เราแทบจะไม่ได้ยินเสียงจิ้งจกร้อง ดังนั้น นานๆ ทีเมื่อเราได้ยินเสียงจิ้งจกร้องเราจึงคิดไปเองว่าเป็นการร้องทัก ร้องเตือนให้เราระวังตัว ดังนั้น การที่จิ้งจกร้องทักจึงเป็นความเชื่อแต่โบราณ เมื่อครั้งยังมีจิ้งจกเกาะติดตามฝาบ้านให้เห็นมากมาย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะเดินทางไปไหน ถึงจิ้งจกจะทักหรือไม่ทัก คุณก็ควรระมัดระวังตัว ไม่อยู่ในความประมาทนะคะ
2. ตุ๊กแกร้องตอนกลางวัน
ความเชื่อโบราณ:
โดยปกติตุ๊กแกมักจะร้องในเวลากลางคืน หากตุ๊กแกที่อาศัยอยู่ตามซอกหลืบภายในบ้านร้องตอนกลางวัน ถือเป็นลางบอกเหตุร้าย เนื่องจากคนโบราณเชื่อว่าตุ๊กแกคือ วิญญาณของปู่ย่าตายายที่เสียชีวิตไปแล้วมาอาศัยอยู่ คอยคุ้มครองลูกหลานจากภัยอันตราย หากตุ๊กแกร้องทักในเวลากลางวัน แปลว่าปู่ย่าตายายมาเตือนว่ากำลังมีภัยมาถึงตัวเรา
ความจริง:
โดยปกติ ตุ๊กแกเป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทที่ใช้ชีวิตอยู่ในเวลากลางคืน จะออกหากินแมลงตัวเล็กๆ ในช่วงในเวลากลางคืน แต่มันก็ไม่แน่เสมอไป ตุ๊กแกอาจส่งเสียงร้องเพื่อประกาศอาณาเขตได้ในทุกเวลาหากมันเจอคน หรือสัตว์ตัวไหนที่มาล้วงล้ำอาณาเขตของมัน อีกทั้งเสียง “ตั๊ก ตั๊ก ตั๊ก ตั๊กแก” ของมันจะดัง ค่อย หรือถี่แค่ไหนขึ้นอยู่กับชนิดหรือพันธุ์ของตุ๊กแก และอารมณ์ของมันในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเกี่ยวกับตุ๊กแกร้องทักตอนกลางวันนั้นเป็นความเชื่อที่อยู่กับคนไทย ดังนั้นไม่เชื่อ ก็ไม่ควรลบหลู่นะคะ
3. ตัวเงินตัวทองคลานเข้าบ้าน
ความเชื่อโบราณ:
คนโบราณมีความเชื่อว่า หากเห็นตัวเงินตัวทองเลื้อยคลานอยู่ภายในบ้าน ให้พูดถึงแต่สิ่งดีๆ ไม่ให้ไล่โดยใช้ความรุนแรง หรือดุด่า ห้ามใช้คำพูดหยาบคาย เพราะการที่ตัวเงินตัวทองเข้าบ้าน ถือเป็นการแก้เคล็ด ให้มีแต่สิ่งดีๆ เข้ามา
ความจริง:
อันที่จริงแล้ว ตัวเงินตัวทองมักเข้ามาอาศัย หรือเลื้อยผ่านบ้านที่อยู่ติดริมน้ำ หรือริมคลอง เพราะเป็นสัตว์เลื้อยคลานครึ่งบกครึ่งน้ำ ชอบอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และในที่มีต้นไม้รก หากบ้านของคุณอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ไม่น่าแปลกใจที่คุณอาจเจอตัวเงินตัวทองมาทักทายในบ้านได้ หากตัวเงินตัวทองคลานเข้าบ้าน เราก็สมควรจะไล่ออกนอกบ้าน เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายกับเด็กๆ หรือสมาชิกในครอบครัวได้ ซึ่งในสมัยโบราณน่าจะใช้ตัวเงินตัวทองเป็นอุบายไม่ให้เราพูดคำหยาบคายมากกว่าค่ะ
4. นกแสกเกาะหลังคาบ้าน
ความเชื่อโบราณ:
โบราณเชื่อว่า หากมีนกแสกเกาะหลังคาบ้าน จะเกิดลางร้าย จะมีคนในบ้านเสียชีวิต เพราะนกแสกเป็นนกที่ถือว่านำความอัปมงคลมาสู่บ้าน เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้ว นกแสกมักจะไม่มาปะปนอยู่ตามที่อยู่อาศัยของคน
ความจริง:
โดยปกตินกแสก หรือนกเค้าแมว เป็นนกที่ชอบอาศัยอยู่ใกล้บ้านเรือน หรือในแหล่งชุมชนอยู่แล้ว แต่ในปัจจุบัน เมื่อมีความเจริญมากขึ้น เราอาจหานกแสกได้ยากขึ้น ดังนั้นหากมีนกแสก หรือกา หรือนกใดๆ บินมาเกาะหลังคาบ้าน บอกเลยว่าแถวบ้านคุณมีแหล่งอาหารของนกที่อุดมสมบูรณ์ นกจึงเข้ามาเกาะหลังคาบ้าน แล้วส่งเสียงร้อง ดังนั้นเมื่อได้ยินเสียงร้องของนกแสก หรือนกใดๆ อย่าตกใจ หรือกังวลจนเกินเหตุนะคะ
5. ผึ้งทำรังในบ้าน
ความเชื่อโบราณ:
เป็นความเชื่อแต่โบราณที่ว่า หากมีผึ้งมาทำรังบนต้นไม้ภายในบ้าน เชื่อว่าบ้านนั้นมีโชคลาภ อย่าไปไล่ หรือทำลายรังผึ้งโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เกิดความหายนะ เพราะผึ้งเป็นแมลงนำโชคที่ขยันทำงาน สร้างรังผึ้งจนใหญ่โต มีบริวารผึ้งนับร้อยอยู่กันอย่างดีมีสุข
ความจริง:
บ้านไหนมีผึ้งมาทำรัง ก็น่าเป็นกังวลอยู่นะคะ อย่าว่าแต่รังผึ้งเลย รังมด หรือรังต่อก็เป็นอันตรายต่อสมาชิกในครอบครัว และสัตว์เลี้ยงอยู่เช่นกัน จริงอยู่ที่ผึ้งเป็นสัญลักษณ์ของความขยันขันแข็ง แต่ถ้าผึ้งเริ่มมาทำรังภายในบ้าน เราไม่ควรจะปล่อยให้สรา้งรังขนาดใหญ่ เพราะยิ่งใหญ่จะยิ่งกำจัดได้ลำบาก หากพบผึ้งมาทำรังภายในบ้าน แนะนำให้หาผู้เชี่ยวชาญ หรือเจ้าหน้าที่กู้ภัยมาช่วยจัดการ รับรองได้ว่าไม่ทำให้บ้านคุณมีโชคร้ายอย่างแน่นอนค่ะ
6. ห้ามกวาดบ้านตอนกลางคืน
ความเชื่อโบราณ:
หลายคนคงเคยได้ยิงผู้เฒ่าผู้แก่ห้ามไม่ให้กลาดบ้านในยามวิกาล หรือในเวลากลางคืน เพราะเชื่อว่าจะเป็นการกวาดเงิน กวาดทองที่อุตส่าห์ทำงานสะสมมาออกไปหมด
ความจริง:
อาจเป็นได้ว่าเมื่อก่อนไม่มีเราไฟฟ้าใช้ ตอนกลางคืนมันมืดมาก การกวาดบ้านตอนกลางคืนจึงไม่ปลอดภัย อาจไปเหยียบเอาของมีคม หรือสัตว์รา้ย อีกอย่างการทำความสะอาด หรือกวาดบ้านในเวลากลางคืนอาจสร้างความรำคาญใจให้กับเพื่อนบ้าน เนื่องจากเราอาจไม่เพียงแค่กวาด อาจมีการเคลื่อนย้ายตู้ หรือข้าวของเพื่อกวาดขยะ หรือหยากไย่ ทำให้เกิดเสียงรบกวนเพื่อนบ้านค่ะ
7. ไม่ควรมีรูปภาพหรือรูปปั้นยักษ์ประดับบ้าน
ความเชื่อโบราณ:
รูปปั้นหรือรูปภาพยักษ์มักพบเห็นได้ในวัด หรือหน้าอุโบสถ ไม่นิยมนำมาประดับตกแต่งภายในบ้าน โบราณว่า หากบ้านไหนมีรูปภาพหรือรูปปั้นยักษ์นำมาประดับตกแต่ง อาจทำให้คนในบ้านทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อย และทำให้มีแต่เรื่องเดือดร้อนมาสู่บ้าน
ความจริง:
การใช้รูปภาพหรือรูปปั้นยักษ์มาประดับ หรือตกแต่งภายในบ้านนั้นมันไม่เหมาะสมอยู่แล้ว เพราะภาพยักษ์มักสะท้อนอารมณ์ที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด ความดุ และความก้าวร้าว เราควรหาภาพวิวทิวทัศน์สวยๆ หรือภาพสมาชิกในครอบครัวมาตกแต่งบ้านแทน จะเหมาะสมกว่าค่ะ
8. ห้ามนอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก
ความเชื่อโบราณ:
โบราณห้ามหันหัวนอนไปทางทิศตะวันตก เพราะเป็นทิศคนตาย หากใครนอนเอาอหัวนอนไปทางทิศตะวันตกจะทำให้นอนฝันร้าย จะถูกผีอำ ถูกผีหลอก นอนแทบไม่ได้ ตื่นนอนขึ้นมาจะไม่สดชื่นแจ่มใส
ความจริง:
การนอนโดยหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกนั้น จริงแล้วอาจใช้ไม่ได้สำหรับการพักอาศัยในยุคปัจจุบัน เนื่องจากห้องพักหรือบ้านของคนในปัจจุบันอาจมีทางเลือกได้ไม่มากนัก จะพบว่าหลายบ้าน หรือหลายห้องพักในคอนโดอาจเลือกไม่ได้ว่าจะหันศีรษะไปทางทิศใด และหลายคนที่นอนโดยหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกก็นอนหลับสบาย ไม่ฝันร้ายแต่อย่างใด
9. น้ำมะพร้าวช่วยให้ทารกคลอดใหม่ผิวสะอาดสดใส
ความเชื่อโบราณ:
มีความเชื่อว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำมะพร้าวในช่วงประมาณเดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์ จนถึงเวลาคลอดลูก เพื่อให้ลูกที่เกิดมามีผิวสะอาด สดใส ไม่มีไขหรือเมือกติดตัวลูก
ความจริง:
น้ำมะพร้าวมีส่วนประกอบของไขมันทั้งอิ่มตัวและไม่อิ่มตัว เมื่อคุณแม่ท้องดื่มน้ำมะพร้าว ไขตามตัวลูกจะสีมีขาวสะอาดขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่ากังวลเลย เพราะไขสีขาวที่เคลือบตัวของลูกน้อยมีหน้าที่ช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ป้องกันการเสียความร้อนให้ลูกตอนแรกเกิด ป้องกันแบคทีเรียผ่านสู่ผิว และยังเป็นตัวหล่อลื่นช่วยให้คลอดได้ง่ายขึ้น
10. คุณแม่ตั้งครรภ์ทานเฉาก๊วยแล้วลูกจะคลอดออกมาตัวดำ
ความเชื่อโบราณ:
โบราณเตือนคุณแม่ตั้งครรภ์ว่าห้ามรับประทานเฉาก๊วยโดดเด็ดขาด เพราะลูกที่คลอดออกมาจะมีตัวดำเหมือนเฉาก๊วย ไม่ว่าผิวคุณแม่จะขาวจั๊วแค่ไหนก็ตาม สีในขนมและอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานจะส่งผลต่อสีผิวของลูก โบราณจึงห้ามไม่อยากให้คุณแม่รับประทานของดำอย่างเฉาก๊วย
ความจริง:
เฉาก๊วยอาจมีสีดำก็จริง แต่ไม่ได้ทำให้ลูกในท้องตัวดำตามไปด้วย ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว อาหารที่คุณแม่กินจะไม่มีผลต่อสีผิวลูก สีผิวที่ได้จะมาจากกรรมพันธุ์ของคุณแม่และคุณพ่อ คุณแม่ตั้งครรภ์จึงสามารถรับประทานเฉาก๊วยได้อย่างไม่มีปัญหา เหตุผลที่คนโบราณเขาเตือนอาจเป็นเพราะว่าส่วนใหญ่ขนมหวานอย่างเฉาก๊วยในน้ำเชื่อม อาจมีความหวานมากเกินไป ทำให้น้ำตาลในเลือดของคุณแม่ขึ้นสูงได้ อันที่จริง เฉาก๊วยมีคุณประโยชน์ในการช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน ลดอาการร้อนใน แก้กระหายให้คุณแม่ได้ดีอีกด้วย
11. เด็กทารกที่เกิดมาแล้วมีปาน
ความเชื่อโบราณ:
คนโบราณเชื่อว่า เด็กทารกคนใดที่เกิดมามีปานแดง หรือปานดำบนร่างกายนั้นถือได้เกิดมาในชาติที่แล้ว แต่เสียชีวิตแต่เด็ก พ่อแม่จึงอยากป้ายผิวลูกเพื่อทำตำหนิเอาไว้ หากไปเจอเด็กที่ไหนที่มีตำหนิเหมือนกัน จะหมายถึงลูกที่เสียชีวิตไปกลับชาติมาเกิดใหม่ หากเป็นปานแดงหมายถึงถูกป้ายด้วยปูนแดง และหากเป็นปานดำหมายถึงถูกป้ายด้วยถ่าน
ความจริง:
ปานแดง ปานดำ หรือรอยตำหริบนผิวทารกน้อยอาจเกิดจากพันธุกรรม เกิดเพราะเซลล์ผิวหนังผิดปกติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ ปานแดง หรือ Port-Wine Stains เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดที่พบได้ตั้งแต่ช่วงแรกเกิด เป็นผื่นสีแดงอมม่วง รอยโรคจะขยายขนาดตามพื้นที่ผิวของร่างกายและโตขึ้นตามวัย อาจทำให้หายได้ด้วยการทำเลเซอร์
12. คุณแม่ตั้งครรภ์ห้ามไปงานศพ
ความเชื่อโบราณ:
ความเชื่อโบราณบอกว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรไปร่วมงานศพ เพราะจะทำให้ภูตผี และวิญญาณร้ายติดตามคุณแม่กลับบ้าน มารังแกลูกน้อยในครรภ์ ทำให้การตั้งครรภ์อาจมีปัญหา หรืออุปสรรค เพราะดวงวิญญาณกลั่นแกล้งนั่นเอง
ความจริง:
นั่นอาจเป็นกุศโลบายของคนโบราณที่ไม่อยากให้คุณแม่ตั้งครรภ์ไปร่วมงานศพ หรือเห็นภาพที่น่าโศรกเศร้า ทำให้ไม่มีความสุขซึ่งอาจส่งผลกับลูกในท้อง ในปัจจุบันคุณแม่ตั้งครรภ์สามารถไปร่วมงานศพได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัวจะมีวิญญาณตามติดมา เพียงคุณแม่ต้องรู้จักจัดการกับอารมณ์ ไม่ให้เกิดความเครียด หรือความเศร้าจากการไปร่วมงานศพนั้น จะได้ไม่ส่งผลกระทบกับลูกในครรภ์ และระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยก็เพียงพอค่ะ
13. กลับจากงานศพให้ล้างหน้าด้วยน้ำใส่ใบทับทิม
ความเชื่อโบราณ:
การไปร่วมงานศพอาจทำให้เกิดเสนียดจัญไร อาจมีวิญญานร้ายติดตามมาบ้าน ใทุกครั้งที่ไปร่วมงามศพ เมื่อกลับถึงบ้าน ควรล้างหน้า ล้างมือ ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดผสมกับกิ่งทับทิม หรือพกกิ่งทับทิมเล็กๆ ไปร่วมงานด้วย เพื่อป้องกันสิ่งเลวร้ายตามกลับบ้าน
ความจริง:
ทับทิม ถือเป็นพืชมงคลจากสวรรค์ มีความศักดิ์สิทธิ์และสามารถไล่ภูตผีปีศาจได้ การเตรียมน้ำผสมกิ่งทับทิม หรือพกกิ่งทับทิมเล็กๆ ไปงานศพนั้น จึงอาจเป็นอีกหนึ่งกุศโลบายของคนโบราณเพื่อช่วยให้เราสบายใจว่ากิ่งทับทิมสามารถขับไล่วิญญาณร้ายไม่ให้ตามมาบ้าน เราจะได้ไปร่วมงานได้อย่างปลอดโปร่งโล่งใจค่ะ
14. ห้ามตัดผมวันพุธ
ความเชื่อโบราณ:
คนโบราณเชื่อถือว่า วันพุธเป็นวันแห่งความเจริญงอกงาม วันแห่งการเติบโต และวิวัฒนาการ วันพุธจึงถูกห้ามไม่ให้ตัดผม ตัดไม้ หรือตัดสิ่งต่างๆ ในวันนี้ หากตัดผมในวันนี้จะทำให้ผู้ถูกตัดผม มีความโง่เขลาเบาปัญญา ทำอะไรก็ไม่มีความเจริญก้าวหน้า
ความจริง:
เรื่องของการห้ามตัดผมในวันพุธไม่ได้มีอะไรเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อที่ว่า ตัดผมวันพุธแล้วจะไม่มีความเจริญ หรือมีความโง่เขลา แต่ในควาเป็นจริงแล้ว ในสมัยก่อน เมื่อพระมหากษัตริย์ หรือพระเจ้าแผ่นจะทรงตัดผมหรือตัดเล็บ จะทรงรับสั่งให้ช่างที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาในวัง โดยวันที่พระองค์ทรงเลือกคือ วันพุธ ดังนั้น ในวันดังกล่าว ช่างตัดผมหรือช่างทำเล็บจะต้องเตรียมตัวเพื่อเข้าไปถวายการรับใช้ในวัง ประชาชนทั่วไปจึงเห็นเป็นสิ่งไม่ควรที่ตนทำตัวเสมอเจ้า จึงไม่นิยมตัดผมในวันพุธกันจนกลายเป็นธรรมเนียมมาถึงปัจจุบันนี้ว่าไม่ควรตัดผมในวันพุธนั่นเอง
15. ตากระตุก
ความเชื่อโบราณ:
คนโบราณเชื่อว่า หากตาซ้ายกระตุกจะมีเคราะห์ มีโชคร้าย ผิดหวัง แต่หากตาขวากระตุก ถือว่าโชคดี ถ้าเป็นในช่วงกลางคืน ตาขวากระตุกจะไม่ดี จะมีเคราะห์มีเหตุร้ายเกิดขึ้น แต่ถ้าหากเป็นตาซ้ายกระตุกจะมีโชคลาภจากเพื่อน
ความจริง:
อาการตากระตุก หรือ Eye Twitching ไม่ว่าจะเป็นตาขวา หรือตาซ้าย เป็นอาการที่เปลือกตามีการขยับเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว อาจเป็นเพียงเล็กน้อย หรืออาจเกิดขึ้นถี่ๆ เป็นอาการที่เกิดจากการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดจากความเครียด ตาแห้ง หรือตาล้า ไม่ได้เกี่ยวกับความเชื่อ หรือโชคลางแต่อย่างใด แต่หากอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการกระตุกของตาว่าส่งสัญญาณอะไให้คุณหรือเปล่า หาอ่านได้ที่บทความ ตากระตุกข้างขวา สัญญาณเตือนภัยของร่างกาย
อันที่จริงยังมีความเชื่อโบราณอีกมากมายสำหรับคนไทยที่บอกต่อกันมามาจากผู้หลักผู้ใหญ่และบรรพบุรุษ สำหรับคนรุ่นใหม่ ความเชื่อต่างๆ อาจเริ่มเลือนลาง และค่อยๆ สูญหายไป แต่เกิดเป็นคนไทยมีความเชื่อไว้บ้างก็ไม่มีอะไรเสียหาย ไม่เชื่อ แต่ไม่ลบหลู่นั้นจะเป็นการดีที่สุดนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: digitalschool.club / sanook.com / salana.co.th / welbsnack.com
Picture credit: pinterest.com