BMA-presents-Outdoor-Movie-Festival-in-Bangkok

ส่งมอบความสุขเพื่อคนกรุงเทพฯ กับ “กรุงเทพกลางแปลง”

ก่อนอื่นต้องขอปรบมือให้กับท่านผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนที่ 17 คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ไม่รีรอที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกรุงเทพมหานครในขณะนี้ รวมทั้งยังมอบความสุขให้กับคนกรุงเทพในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีในสวน ที่ช่วยให้คนที่รักดนตรีได้กลับมาพบกันความสุนทรีในการฟังเพลงในสวนอีกครั้งหลังจากที่ห่างหายกันไปหลายปี

อีกทั้งยังนำความแปลกใหม่ในการจัดให้มีการฉายหนังกลางแปลง ซึ่งอาจยังพอหาดูได้ตามงานวัด หรืองานบุญต่างๆ ในต่างจังหวัด แต่เรียกได้ว่าแทบจะสูญพันธุ์ไปแล้วกับกิจกรรมดีๆ แบบนี้ นับเป็นการปลุกกระแสและมอบความบันเทิงให้กับคนกรุงเทพอย่างแท้จริง ให้พวกเราได้มีโอกาสหันมามีความสุข ดูหนังกลางแปลงในที่โล้งแจ้ง ในสวนสาธารณะ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับคนรุ่นใหม่ และเยาวชนไทยอย่างแน่นอน

OUTDOOR MOVIE BANGKOK 1

Picture credit: matichon.co.th

“กรุงเทพกลางแปลง” นับเป็นเฟสติวัลชั้นดี ผลงานของท่านผู้ว่าฯ ที่ชวนให้พี่น้องชาวกรุงเทพมาใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน ดึงบรรยากาศของหนังกลางแปลงสมัยก่อนกลับมาใหม่ด้วยหนังไทยและเทศคุณภาพ มีหนังหลายเรื่องที่เราคนกรุงเทพอาจไม่เคยดูด้วยซ้ำ

OUTDOOR MOVIE BANGKOK

Picture credit: komchadluek.net

“กรุงเทพกลางแปลง” เทศกาลดูหนังดีๆ ที่มีส่วนช่วยปลุกเศรษฐกิจ เพิ่มสีสันชีวิตยามค่ำคืนให้กรุงเทพ ให้คนกรุงเทพออกมาดูหนังกลางแจ้ง แทนการดูหนังโรง แถมยังเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบกิจการ คนค้าขายอาหาร เครื่องดื่ม และของกินเล่นต่างๆ หาบเร่ แผงลอยได้ออกมาค้าขาย ทั้งข้าวโพดปิ้ง ข้าวโพดคั่ว อ้อยควั่น โรตีสายไหม ปลาหมึกบด น้ำหวานหลากสีใส่ถุงพลาสติกรัดยาง และอีกมากมายให้คนไทยได้ย้อนบรรยากาศการดูหนังกลางแปลงที่หลายคนอาจไม่เคยสัมผัส

Central Inspirer ขอชื่นชมกิจกรรมดีๆ แบบนี้ พร้อมอยากพูดคุยและแนะนำคนรุ่นใหม่ให้ทราบว่า หนังกลางแปลงในเมืองไทยนั้นมีที่มาอย่างไร พร้อมมาดูกันว่าเทศกาลหนัง “กรุงเทพกลางแปลง” จัดที่ไหนบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

ประวัติหนังกลางแปลงในประเทศไทย

OUTDOOR MOVIE IN THE PAST

Picture credit: silpa-mag.com

หนังกลางแปลง หรือ Outdoor Movie เป็นมหรสพยามค่ำคืนที่ทำให้หลายคนย้อนรำลึกถึงเสียงม้วนฟิล์มของเครื่องฉายหนังที่กำลังฉายภาพลงบนจอขนาดยักษ์ที่ตั้งตระหง่านในพื้นที่โล่งแจ้ง 

มนต์เสน่ห์ของหนังกลางแปลงนอกจากจะมีเครื่องฉายหนังจอภาพและนักพากย์หนังสดแล้ว มนต์เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งคือ วิธีการรับชมหนังกลางแปลงที่ต้องชมในพื้นที่โล่งกว้าง ปูเสื่อหรือผ้าไว้สำหรับนั่งหรือนอน พร้อมด้วยของขบเคี้ยวอย่างถั่วแระ หรืออ้อยควั่น พร้อมเสียงพูดคุยกันของครอบครัว เพื่อน หรือคู่รักที่มานั่งตากน้ำค้างเพื่อรับชมหนังกลางแปลงร่วมกัน

OUTDOOR MOVIE IN THE PAST1

Picture credit: kapook.com

หนัง หรือภาพยนตร์เริ่มเข้ามาในสยามตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยคณะละครเร่ชาวตะวันตกนามว่า S.G. Marchovsky ได้นำภาพยนตร์ฝรั่งเข้ามาจัดฉายสู่สายตาสาธารณะชนครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2440 ณ โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ นับตั้งแต่นั้นมาภาพยนตร์ได้กลายเป็นมหรสพใหม่สำหรับคนกรุงเทพ และชาวไทย 

OUTDOOR MOVIE INT HE PAST 3

Picture credit:postjung.com

หนังกลางแปลงเริ่มเฟื่องฟูขึ้นในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หนังกลางแปลงนับเป็นเครื่องมือโฆษณาประชาสัมพันธ์ขององค์กรต่างๆ มีหนังขายยาที่โฆษณาและขายผลิตภัณฑ์ไปตามหมู่บ้านและจังหวัดต่างๆ ด้วยเหตุนี้หนังกลางแปลงจึงถูกเรียกในชื่อต่างๆ เช่น หนังล้อมผ้า/รั้ว หนังเร่ หนังขายยา หรือหน่วยประชาสัมพันธ์ต่างๆ เป็นต้น

ในปัจจุบันหนังกลางแปลง มหรสพแห่งท้องทุ่งค่อยๆ เลือนหายไป เหลือเพียงไม่กี่ทีมงานที่ยังคงจัดฉายหนังกลางแปลงอยู่ และมักกลายเป็นเพียงมหรสพเพื่อใช้ในการแก้บนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือฉายตามงานวัดต่างๆ เนื่องจากความเจริญทางเทคโนโลยี การเกิดขึ้นของโรงภาพยนตร์ โปรแกรมการดูหนังมากมาย รวมถึงแกดเจ็ตต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรือ แท็บเล็ททำให้คนรุ่นใหม่ไม่มีความจำเป็นต้องออกไปนั่งตบยุงดูหนังกลางแปลง ดังนั้น “กรุงเทพกลางแปลง” จึงถือเป็นกิจกรรมที่ปลุกกระแสและที่นำความบรรเทิงในอดีตกลับมาให้กับคนกรุงเทพอีกครั้ง

โปรแกรมและสถานที่สำหรับ “กรุงเทพกลางแปลง”

Picture credit:tnnthailand.com

เทศกาลฉายหนัง “กรุงเทพกลางแปลง” ในเดือนกรกฎาคม 2565 จะเริ่มตั้งแต่ 19.00 น. ตามกำหนดการดังต่อไปนี้ 

1. ศูนย์เยาวชนคลองเตย เขตคลองเตย

วันที่ 14 ก.ค. ฉายภาพยนตร์เรื่อง RRR (2565)

วันที่ 15 ก.ค. ฉายภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544)

วันที่ 16 ก.ค. ฉายภาพยนตร์เรื่อง บุญชูผู้น่ารัก (2531)

2. สวนรถไฟ เขตจตุจักร

วันที่ 14 ก.ค. ฉายภาพยนตร์เรื่อง 4Kings (2564)

วันที่ 15 ก.ค. ฉายภาพยนตร์เรื่อง Portrait of a Lady on Fire (2562)

วันที่ 16 ก.ค. ฉายภาพยนตร์เรื่อง สวรรค์มืด (2501)

3. สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย

วันที่ 21 ก.ค. ฉายภาพยนตร์เรื่อง หมานคร (2547)

วันที่ 22 ก.ค. ฉายภาพยนตร์เรื่อง อนธการ (2558)

วันที่ 23 ก.ค. ฉายภาพยนตร์เรื่อง Wheel of Fortune and Fantasy (2564)

4. ตลาดบางแคภิรมย์ เขตบางแค

วันที่ 21 ก.ค. ฉายภาพยนตร์เรื่อง Fast and Furious (2552)

วันที่ 22 ก.ค. ฉายภาพยนตร์เรื่อง  ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547)

วันที่ 23 ก.ค. ฉายภาพยนตร์เรื่อง เพื่อนสนิท (2548)

5. Block I สยามสแควร์

วันที่ 28 ก.ค. รักแห่งสยาม (2550)

วันที่ 29 ก.ค. ฉายภาพยนตร์เรื่อง Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (2549)

วันที่ 30 ก.ค. ฉายภาพยนตร์เรื่อง สยามสแควร์ (2527)

6. สวน 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เขตลาดกระบัง

วันที่ 28 ก.ค. ฉายภาพยนตร์เรื่อง คู่กรรม (2556)

วันที่ 29 ก.ค. ฉายภาพยนตร์เรื่อง พี่นาค (2562)

วันที่ 30 ก.ค. ฉายภาพยนตร์เรื่อง มือปืน (2526)

7. สวนครูองุ่น เขตวัฒนา

31 ก.ค. ฉายภาพยนตร์เรื่อง School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน (2563)

8. มศว.ประสานมิตร เขตวัฒนา

28 ก.ค. ฉายภาพยนตร์เรื่อง One for the Road วันสุดท้ายก่อนบายเธอ (2564)

ต้องขอบคุณท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อีกครั้งที่นำความบรรเทิงของมหรสพยามค่ำคืนมาสู่คนกรุงเทพ นำความสุขจากในอดีตให้หวนกลับมาอีกครั้งสำหรับคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่าอีกหลายคนที่ยังคงนึกถึงความหลังกับบรรยากาศหนังกลางแปลง หวังว่ากรุงเทพมหานครจะมีกิจกรรมดีๆ แบบนี้ให้คนกรุงเทพได้มีความสุขกันไปอีกนานๆ และถึงแม้ว่าเทศกาล “กรุงเทพกลางแปลง” จะประสบปัญหามากมายที่ยากจะควบคุมได้ เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง น้ำท่วม ก็ขอให้ตั้งใจนำเสนอสิ่งดีๆ มาฝากชาวกรุงเทพไปเรื่อยๆ นะคะ ขอปรบมือให้ท่านค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก: tnnthailand.com/silpa-mag.com