นอกจากงูเงี้ยวเขี้ยวขอ แมลงป่อง หรือตะขาบ สัตว์มีพิษต่างๆ ที่เราควรระมัดระวัง ไม่ว่าจะอยู่ในบ้าน หรือเดินทางท่องเที่ยวไปไหน เที่ยวป่าเขาลำเนาไพร “แมงมุม” ก็เป็นอีกหนึ่งสัตว์ที่อาจมีพิษ ที่คุณต้องสอดส่องไม่ให้พลาดสายตา และควรระวังไว้อย่างมาก
ทราบหรือไม่ว่าในประเทศไทยของเรามีแมลงมุมที่มีพิษอยู่หลายชนิด เราเคยแต่เห็นแมลงมุมตัวจิ๋วๆ ที่หลบซ่อนอยู่ภายในบ้าน บนหน้าต่าง หรือแมลงมุมขายาวที่เกาะอยู่บนกำแพง เราเองก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสกับมัน เพราะไม่มั่นใจว่าแมงมุมเหล่านั้นมีพิษหรือไม่
ดังนั้นในวันนี้ Central Inspirer จึงอยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับแมงมุม หลายคนสงสัยว่าแมงมุมมีกี่ขา แมงมุมเป็นแมลงหรือไม่ และเมื่อโดนแมงมุมกัดจะมีอาการอย่างไร ก่อนมาทำความรู้จัก 5 แมงมุมมีพิษในประเทศไทย พร้อมวิธีป้องกันและวิธีปฐมพยาบาลเบื้อต้นหากโดนแมงมุมกัด
มาทำความรู้จักกับแมงมุมกันดีกว่า
แมงมุม หรือ Spider เป็นสิ่งมีชีวิตประเภทสัตว์ขาปล้อง หรืออาร์โธพอด (Arthropod) เช่นเดียวกับกิ้งกือ หรือปู แต่มีรูปทรง ลักษณะ และขนาดแตกต่างหลากหลายกันออกไป บางชนิดมีลำตัวที่กว้างมาก บางชนิดมีรูปร่างที่เพรียวยาว ขณะที่บางชนิดกลับมีรูปร่างที่คล้ายมด เพื่อใช้ในการพรางตัว แมงมุมรูปร่างคล้ายแมลงมี 8 ขา มีหัว และอกติดกันเป็นส่วนเดียว จึงไม่จัดแมงมุมเป็นแมลง
5 แมงมุมมีพิษในประเทศไทย ห้ามเข้าใกล้!
1. แมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล (Brown Widow Spider)
แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล เป็นแมงมุมมีพิษที่เป็นนสายพันธุ์พี่น้องกับแมงมุมแม่ม่ายดำ เชื่อกันว่ามีถิ่นกำหนดมาจากทั้งในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ มักจะพบได้ตามอาคารบ้านเรือนในเขตร้อนชื้น เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น รวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งสามารถพบได้ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งการเข้าสู่ประเทศไทยน่าจะมาทางเรือสินค้าเป็นหลัก ปัจจุบันแมงมุมแม่ม่ายดำถูกนำมาขายให้กับคนที่ชอบเลี้ยงสัตว์แปลกๆ โดยไม่ทราบพิษที่ร้ายแรงของแมงมุมชนิดนี้
แมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลมีขนาดตัวเล็กและมีสีอ่อนกว่าแมงมุมแม่ม่ายดำ ซึ่งลำตัวอาจมีตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนจนถึงน้ำตาลเข้มเกือบดำ กลางท้องมีเครื่องหมายสีแดงเป็นรูปนาฬิกาทราย ตัวเมียจะวางไข่ครั้งละประมาณ 120–150 ฟอง โดยมีระยะการฟักตัวประมาณ 20 วัน แมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลอาจมีนิสัยไม่ก้าวร้าว และมีเฉพาะตัวเมียเท่านั้นที่กัดเข้าผิวหนังมนุษย์ได้ อย่างไรก็ตามการกัดของแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลไม่ร้ายแรงเท่าของแมงมุมแม่ม่ายดำ เนื่องการกัดหนึ่งครั้งปล่อยพิษออกมาในปริมาณที่น้อยกว่า หลังถูกกัด 15-30 นาที จะปวดร้อนและรู้สึกชาหรือตึงที่บริเวณแผล ลักษณะของแผลจะแดงเป็นจ้ำๆ อย่างเห็นได้ชัด เพราะพิษของแมงมุมชนิดนี้จะเข้าไปทำลายระบบประสาท ทำให้เกิดอาการชาขึ้นมา ถึงอาจมีพิษไม่ร้ายแรงเท่าแมงมุมแม่ม่ายดำ แต่แนะนำให้ปฐมพยาบาลเบื้อต้น และรีบไปพบแพทย์จะดีกว่าค่ะ
2. แมงมุมหลังแดง (Red Back Spider)
แมงมุมหลังแดง เป็นแมงมุมที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย เป็นแมงมุมที่ขึ้นชื่อในเรื่องของ “พิษ” ที่มีความร้ายแรง โดยพิษของมันอาจทำให้มนุษย์เสียชีวิตได้ เพราะไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้ไประบาดในประเทศอังกฤษและทำให้คนอังกฤษเสียชีวิตไปหลายคน สิ่งหนึ่งที่เราไม่ทราบเกี่ยวกับแมงมุมชนิดนี้คือ มันมี “ใย” ที่แข็งแกร่งมาก มันแกร่งมากพอที่จะใช้จับ หนู หรือ งู ที่มีขนาดใหญ่กว่าแมงมุมมากได้แมงมุมแมงหลังแดง
แมงมุมหลังแดงมีความคล้ายกับแม่ม่ายดำมาก เพราะตัวเมียของแมงมุมหลังแดง จะมีสีดำ ตูดเป็นทรงกลม มีแถบสีแดงแสดงชัดเจนอยู่ด้านบน ส่วนตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่ามาก แมงมุมชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่ใกล้กับคน ด้วยเหตุนี้พวกมันจึงมันจะกัดมนุษย์อยู่บ่อยๆ และมันก็กัดถึงตายหากไม่ได้รับการรักษาโดยทันที
หากโดนแมงมุมหลังแดงกัดจะมีอาการร้อนและชาที่แผล ซึ่งบริเวณแผลจะมีลักษณะแดงเป็นจ้ำๆ เล็กน้อย แต่ไม่มีแผลเหวอะหวะ ผู้ที่ที่เคยถูกแมงมุมแม่ม่ายหลังแดงกัด เมื่อเข้ารับการรักษาจะอยู่โรงพยาบาลไม่เกิน 2-3 วัน ก็สามารถกลับบ้านได้ โดยแพทย์จะรักษาตามอาการและระมัดระวังไม่ให้แผลติดเชื้อ
3. แมงมุมสันโดดสีน้ำตาล (Brown Recluse Spider)
แมงมุมสันโดดสีน้ำตาล เป็นแมงมุมพิษที่พบได้ทางตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ มีขนาดเล็กประมาณ 6-20 มิลลิเมตร แต่อาจมีขนาดโตกว่านี้ได้ ลักษณะเด่นของมงมุมชนิดนี้ คือ ด้านหลังของแมงมุมตรงช่วงศีรษะถึงอกจะมีลายสีออกดำรูปคล้ายไวโอลิน แมงมุมชนิดนี้ชอบอยู่ในที่มืด แห้ง และสงบ เช่นเดียวกับแมงมุมแม่ม่ายดำ และจะออกจากที่อยู่อาศัยเพื่อล่าสัตว์อื่นในเวลากลางคืน
แมงมุมชนิดนี้มีพิษต่อระบบเลือด ซึ่งพิษจะกระจายไปทั่วร่างกายในเวลาเป็นนาที ทำให้เกิดความผิดปกติในอวัยวะหลายๆ ส่วน โดยมีอาการแสดงทำให้เกิดเม็ดโลหิตแดงแตก เกล็ดเลือดต่ำ มีการแข็งตัวของเกล็ดเลือดกระจายทั่วร่างกาย อันตรายต่ออวัยวะภายในอื่นๆ อาการที่พบ ได้แก่ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ไข้ ผื่นแดง ปวดกล้ามเนื้อและข้อ
อันตรายรุนแรงมักเกิดในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยผู้ที่ถูกกัดและเสียชีวิตมักเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เมื่อถูกกัดมักจะไม่รู้สึกเจ็บ แต่มักเริ่มมีอาการปวดและคันบริเวณที่ถูกกัดหลัง 2-8 ชั่วโมง เกิดเป็นตุ่มน้ำพอง อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้ผิวหนังบริเวณที่ถูกกัดตายได้ถึงร้อยละ 37 เกิดเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่ได้ถึง 10 นิ้ว
4. แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Recluse Spider)
แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่ในขณะนี้พบว่ามีการแพร่กระจายในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ประเทศในแถบทวีปยุโรป ออสเตรเลีย รวมถึงอีกหลายประเทศทางแถบเอเชียได้แก่ จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ญี่ปุ่น และประเทศไทย
แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียนมีสีน้ำตาลเข้ม ร่างกายแบนเรียว ขนาดตัวอยู่ที่ประมาณ 7.0-7.5 มิลลิเมตร บนหัวมีลักษณะคล้ายไวโอลิน ชอบหลบซ่อนตัวตามซอกแคบ ตามถ้ำในป่า ออกหากินตอนกลางคืน ถึงจะมีพิษแต่ไม่มีนิสัยดุร้าย
หากถูกกัดพิษของแมงมุมชนิดนี้จะทำให้เกิดตุ่มแดงคล้ายยุงกัดและหายได้ในเวลาไม่นาน แต่ในบางรายอาจเกิดอาการอักเสบ และหากไม่ไปพบแพทย์จะทำให้เนื้อเยื่อตาย รวมทั้งบางรายอาจมีภาวะโลหิตจาง และไตวายเฉียบพลัน แมงมุมชนิดนี้จะมีชื่อเสียงในด้านพิษที่มีรุนแรง แต่ข้อมูลจากงานวิจัยและการเก็บสถิติเป็นเวลากว่าสิบปีในต่างประเทศ พบว่าคนที่โดนแมงมุมชนิดนี้กัดมีเพียง 10% เท่านั้น ที่จะเกิดแผลที่รุนแรงจนต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์
5. แมงมุมแม่ม่ายดำ (Black Widow Spider)
แมงมุมแม่ม่ายดำ เป็นแมงมุมขนาดเล็ก พบได้ในหลายประเทศ แต่ชุกชุมมากในทวีปอเมริกาใต้และทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปออสเตรเลีย ในปัจจุบันนี้ก็สามารถพบได้ในประเทศไทยเช่นกัน ชื่อของแมงมุมชนิดนี้ สื่อถึงพฤติกรรมที่แมงมุมตัวเมียมักจะกินแมงมุมตัวผู้หลังจากผสมพันธุ์
ลักษณะของแมงมุมแม่ม่ายดำมีความยาวประมาณขนาดครึ่งถึงหนึ่งนิ้ว หรือ 1-2 เซนติเมตร มีสีดำตัวกลม ที่ท้องจะมีลายเป็นรูปนาฬิกาทรายสีแดง ส่วนตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมียประมาณ 20 เท่า และมีสีน้ำตาล ไม่พบลักษณะนาฬิกาทรายที่ท้องของตัวผู้
แมงมุมแม่มายดำชอบอยู่ในที่อับแสง แห้ง ไม่มีลม เช่น ตามรั้ว หรือในกองใบไม้ ชอบออกหากินกลางคืน แต่เฉพาะแมงมุมตัวเมียเท่านั้นที่สามารถกัดคนได้ เนื่องจากตัวผู้ตัวเล็กและกรามไม่แข็งแรงพอ พิษของแมงมุมแม่ม่ายดำจะออกฤทธิ์กับระบบประสาท มีความรุนแรงกว่าพิษงูส่วนใหญ่ มักเริ่มแสดงอาการหลังถูกกัดประมาณ 20 นาทีถึง 1 ชั่วโมง โดยบริเวณที่ถูกกัดอาจจะมีอาการแดงเพียงเล็กน้อย แต่อาการปวดเฉพาะที่จะตามมาด้วยตะคริวรุนแรงที่อาจเป็นทั่วตัว ปวดท้อง อ่อนแรง มือสั่น ปวดกล้ามเนื้อใหญ่ๆ อย่างรุนแรง เช่น บริเวณหลัง หรือไหล่ พิษของมันจะเข้าไปทำลายกล้ามเนื้อจุดกระบังลม ระบบประสาท อาจทำให้เกิดอาการเกร็งจนกล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานได้
แมงมุมกัด อาการเป็นอย่างไร
หากโดนแมงมุมทั่วๆ ไป ที่ไม่มีพิษร้ายแรงมากกัด อาจมีอาการคล้ายโดนแมลงสัตว์กัดต่อยธรรมดา ไม่มีอันตรายมากนัก เพราะแมงมุมเป็นสัตว์ขนาดเล็ก การปล่อยพิษหลังจากกัดในแต่ละครั้งก็จะมีปริมาณพิษน้อยตามขนาดตัว ความรุนแรงของอาการเลยอาจไม่ได้ร้ายแรงเท่าไร โดยหลังถูกแมงมุมกัดให้สังเกตอาการ 1 คืน หากมีอาการปวด บวม เจ็บพอทนไหว และอาจมีผื่นขึ้น ก็ยังถือว่าไม่อันตราย แต่หากอาการไม่ดีขึ้นเลยก็ควรรีบไปพบแพทย์
แต่หากโดนแมงมุมกัดแล้วมีอาการปวดจนทนไม่ไหว มีอาการชา หน้ามืด อาเจียน ไข้ขึ้น แผลบวมไหม้เป็นสีดำ ปวดตามข้อและกระดูก ปวดท้อง และปวดศีรษะ แนะนำให้รีบมาพบแพทย์โดยทันที เพราะสันนิษฐานว่าอาจถูกแมงมุมที่มีพิษกัด หากเป็นไปได้ควรนำแมงมุมที่กัดเราไปให้แพทย์ดูด้วย หรืออย่างน้อยควรสังเกตลักษณะของแมงมุมให้ดี เพื่อจะได้สามารถระบุชนิดและความร้ายแรงของพิษแมงมุมได้ แต่หากไม่อยากโดนแมงมุมกัด เราก็ต้องมาหาวิธีป้องกัน มาดูกันดีกว่าว่าเราจะป้องกันตัวจากแมงมุมกัดได้อย่างไร
วิธีป้องกันแมงมุมกัด
วิธีป้องกันแมงมุมกัดที่ได้ผลดีที่สุดคือ ไม่ไปจับตัวแมงมุม ไม่พยายามเข้าใกล้ หรือเอ็นดูจนอยากสัมผัสตัวแมงมุม เพราะเราอาจไม่ทราบว่าแมงมุมตัวนั้นมีพิษหรือไม่ อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันตัวจากแมงมุมกัด ควรปฏิบัติดังนี้
- รักษาความสะอาดของที่พักอาศัยอยู่เสมอ เพื่อกำจัดรังแมงมุม หรือไข่ของแมงมุม เพราะยาฉีดยุง ย่าฆ่าแมลงอาจไม่สามารถทำให้แมงมุมตายได้
- หมั่นทำความสะอาด ปัดใยแมงมุม หรือดูดด้วยเครื่องดูดฝุ่นบริเวณที่แมงมุมชอบมาชักใย เช่น กรอบประตู กรอบหน้าต่าง มุมเพดาน หรือช่องลม เป็นต้น
- หากต้องเข้าไปในที่รกร้าง สวน ไร่ นา ตามถ้ำในป่า ห้องเก็บของ หรือจุดที่มีหยากไย่เยอะๆ ควรสวมใส่เสื้อผ้ามิดชิด โดยสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมถุงมือ และรองเท้าหุ้มส้น
- ต้องไม่ลืมสวมถุงมือเวลาทำงานที่มีโอกาสเจอแมงมุม เช่น ทำสวน ปลูกต้นไม้ หรือขนฟืน เป็นต้น
- ตรวจดูและเขย่ารองเท้าและเสื้อผ้า เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีแมงมุม หรือสัตว์มีพิษร้ายอื่นๆ หลบซ่อนอยู่ก่อนสวมใส่
- ติดมุ้งลวดตามหน้าต่างและประตู เพื่อป้องกันแมลงต่างๆ บินเข้ามาในบ้าน
- วางเตียงนอนให้ห่างจากผนังห้อง และพยายามอย่าให้ผ้านวม ผ้าห่ม หรือผ้าคลุมเตียงยาวระพื้น
- ไม่เปิดไฟทิ้งไว้ตอนกลางคืน เพื่อลดจำนวนแมลงเล่นไฟ ซึ่งถือเป็นการควบคุมจำนวนแมลงที่เป็นเหยื่อของแมงมุม
- กาวดักแมลงสาบสามารถใช้ดักจับแมงมุมในบริเวณที่แมงมุมชอบเดินผ่าน
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อโดนแมงมุมกัด
หากโดนแมงมุมกัดไม่ว่าจะมีพิษ หรือไม่มีพิษ แนะนำให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพราะอาการของแมงมุมกัดอาจไม่ส่งผล หรืออกอาการโดยทันที โดยการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสามาถทำได้ดังนี้
- ทำความสะอาดบาดแผลด้วยสบู่ หรือน้ำเกลือสำหรับล้างแผล เพื่อลดการติดเชื้อ
- ประคบเย็นบริเวณที่ถูกกัด โดยใช้น้ำแข็ง หรือผ้าชุบน้ำเย็นบิดให้แห้ง ประคบเย็นที่แผล เพื่อให้ปากแผลเย็นขึ้น ลดโอกาสที่พิษแมงมุมจะกระจายตัวไปที่อวัยวะอื่น
- ไม่แนะนำให้ใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดแผล เพราะจะทำให้แผลหายช้า รวมไปถึงการใช้ยาหม่องทาที่แผลก็อาจทำให้แผลยิ่งบวม เกิดการอักเสบ และเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้น
- ไม่ควรประคบร้อนที่บริเวณที่ถูกกัดโดยเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้พิษแมงมุมกระจาย
- หากมีอาการปวด หรือคัน สามารถกินยาแก้ปวด หรือยาแก้แพ้รักษาในเบื้องต้นได
- พยายามอย่าขยับแผลมากนัก และพันผ้าพันแผลเพื่อลดการกระจายของพิษ
- ไม่ควรบีบ หรือเค้นแผล
- หากมีอาการรุนแรง อาการไม่ดีขึ้น เช่น แผลบวมมาก ปวดมาก มีอาการชา มีอาการคลื่นไส้อาเจียน มีไข้ หรือปวดศีรษะ ให้รีบไปโรงพยาบาลโดยทันที และแนะนำให้นำแมงมุมไปด้วย หรืออย่างน้อยจดจำลักษณะแมงมุมที่กัดให้ดี
แมงมุมพิษทั้ง 5 ชนิดอาจดูมีแหล่งกำเนิดที่ห่างไกลจากประเทศไทย แต่ก็ได้ถูกพบว่าในปัจจุบันสามารถพบได้ทั่วไปในประเทศไทย ดังนั้นควรระมัดระวัง อย่าคิดว่าแมงมุมตัวเล็ก ไม่น่าจะทำร้ายเราได้ รวมถึงท่านใดที่รักการเลี้ยงและสะสมสัตว์แปลกๆ ควรระมัดระวังไว้ หากโดยพิษร้ายจากแมงมุมเหล่านี้ โดยเฉพาะเมื่อมันกัดเด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ทางที่ดีไม่ควรหามาเลี้ยงจะดีที่สุดค่ะ ปล่อยให้มันอยู่กับธรรมชาติ และอยู่ให้ห่างพวกมันจะดีกว่า ตามนี้นะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: wikipedia.org/kapook.com/thairath.co.th
Picture credit: pinterest.com