“การถ่ายภาพ” เป็นหนึ่งในงานอดิเรกที่หลายคนชื่นชอบ เพราะนอกจากจะเป็นการเก็บความทรงจำไว้บนผืนกระดาษ [ปัจจุบันเป็นดิจิตอล] ยังเป็นการสรรค์สร้างผลงานศิลปะจารึกไว้บนโลกอีกด้วยนั่นเอง เพราะภาพถ่ายแต่ละรูปมีสเน่ห์ในตัวของมันเอง ซึ่งเป็นไปตามความตั้งใจและเจตนารมณ์ของคนถ่าย ทำให้เราดูกี่ภาพก็ได้มาซึ่ง อารมณ์ ความรู้สึก ที่แตกต่างกันออกไปทุกครั้ง
เอาจริงๆ ตัวมาดามเองก็ไม่ค่อยคุ้นกับการถ่ายภาพสักเท่าไหร่ [เว้นแต่การเซลฟี่ตามคาเฟ่ต่างๆ] แต่ที่อยากนำประเด็นเรื่องการถ่ายภาพมาเล่าให้ฟัง นั่นก็เพราะว่าวันที่ 19 สิงหาคมนี้ จะตรงกับ “วันถ่ายภาพโลก (World Photo Day)” ซึ่งเป็นวันรำลึกถึงเมื่อ 185 ปีก่อนที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ซื้อสิทธิบัตรการถ่ายภาพและยกให้เป็นสาธารณะสมบัติเพื่อเป็นของขวัญแก่ประชากรโลก นับแต่นั้นมา การถ่ายถือว่าเป็นงานอดิเรก [หรือบางคนทำเป็นอาชีพ] ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกค่ะ
ดังนั้น เพื่อเฉลิมฉลองวันถ่ายภาพโลกสุดสำคัญนี้ มาดามจึงอยากหยิบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของการถ่ายภาพมาฝากกัน โดยจะเป็น 10 เทคนิคถ่ายภาพตอนกลางคืนสำหรับมือใหม่ [รวมถึงตัวมาดามเอง] สาเหตุที่เลือกมานั่นก็เพราะว่า ในเวลากลางวันเรายังจับพลัดจับผลู ถ่ายรูปได้ปกติ ไม่ต้องใช้เทคนิคมากนัก ต่างกับตอนกลางคืนที่ต้องใช้เทคนิคมากขึ้นนั่นเอง เรามาดูกันเลยค่ะว่าจะมีเทคนิคไหนบ้าง
เอาล่ะ! ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาหลัก สิ่งที่มือใหม่อย่างพวกเราต้องทำคือจูนภาษาให้เข้าที่ก่อน โดยมาดามจะขอเรียกมันว่าภาษากล้องค่ะ โดยจะเป็นเหล่าคำศัพท์ต่างๆ ที่ช่างภาพเขาใช้กัน เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้อ่านบทความนี้เข้าใจมากขึ้นค่ะ แต่ถ้าใครพอมีพื้นฐานอยู่แล้ว สามารถกด ข้าม ไปเข้าเนื้อหาหลักกันได้เลย
- ISO
ISO คือ ค่าความไวแสงของเซนเซอร์กล้อง จะอธิบายง่ายๆ แบบนี้ค่ะ รับรองจำได้แน่นอน
- ค่า ISO ต่ำ (เช่น 100) หมายถึงความไวแสงต่ำ เหมาะกับการถ่ายในที่แสงสว่างมาก
- ค่า ISO สูง (เช่น 1,600) หมายถึงความไวแสงสูง เหมาะกับการถ่ายในที่แสงสว่างน้อย
อย่างไรก็ตามการใช้ ISO สูงอาจทำให้เกิดสัญญาณรบกวนหรือเม็ดเกรนในภาพได้
- รูรับแสง [Aperture]
Aperture คือ ขนาดของช่องที่เปิดให้แสงผ่านเข้าเลนส์กล้อง จะได้การวัดค่าเป็น f-stop (เช่น f/2.8, f/5.6) โดยจะขออธิบายง่ายๆ ดังนี้ค่ะ
- ค่า f-stop ต่ำหมายถึงรูรับแสงกว้าง แสงเข้าได้มาก และทำให้ระยะชัดลึกตื้น
- ส่วนค่า f-stop สูงหมายถึงรูรับแสงแคบ แสงเข้าได้น้อย และทำให้ระยะชัดลึกมากขึ้น
การทำหน้าชัดหลังเบลอก็คือการใช้ฟังก์ชั่นนี้นั่นเอง
- ชัตเตอร์สปีด [Shutter Speed]
ชัตเตอร์สปีดคือการควบคุมระยะเวลาที่เซ็นเซอร์กล้องรับแสง ซึ่งวัดเป็นวินาที [เช่น 1/1000, 1/30] โดยนิยามง่ายๆ ดังนี้
- ความเร็วสูง ช่วยจับภาพที่เคลื่อนไหวได้ชัดเจน
- ความเร็วต่ำ ใช้สร้างเอฟเฟกต์ภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวได้
- สมดุลสีขาว [White Balance]
สมดุลสีขาว คือ การปรับภาพให้ดูเป็นธรรมชาติโดยการแก้ไขอุณหภูมิสีของแหล่งแสงให้เป็นสีขาว แทนที่จะใช้ต้นฉบับเป็นสีฟ้า หรือสีเหลือง ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของคุณว่าอยากให้ภาพมีอารมณ์ ความรู้สึกแบบไหน
- การเปิดรับแสง [Exposure]
การเปิดรับแสง เป็นฟังก์ชั่นที่ใช้กำหนดปริมาณแสงที่เข้าสู่เซ็นเซอร์กล้อง ซึ่งเป็นการผสาน ระหว่างรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ และ ISO การตั้งค่าสิ่งนี้ให้ดี จะช่วยให้ภาพไม่สว่างเกินไป [Overexposed] หรือมืดเกินไป [Underexposed]
- ความยาวโฟกัส [Focal Length]
ความยาวโฟกัส คือ ระยะห่างระหว่างเลนส์กล้องและเซ็นเซอร์ โดยมักจะวัดเป็นมิลลิเมตร [เช่น 24mm, 50mm] โดยจะเป็นตัวแปรหลักในการกำหนดมุมมองและการขยายของภาพ โดยมีนิยาม ดังนี้
- ความยาวโฟกัสสั้น จะได้ภาพมุมกว้าง
- ความยาวโฟกัสยาว จะซูมเข้าหาวัตถุที่อยู่ใกล้
- ระยะชัดลึก [Depth of Field]
ระยะชัดลึก คือ พื้นที่ที่ภาพดูชัดเจนนั่นเอง หรือถ้าจะให้เห็นภาพก็คือ
- ระยะชัดลึกตื้น คือ มีเพียงบางส่วนของภาพที่ชัดเจน
- ระยะชัดลึกมาก คือ ภาพส่วนใหญ่ดูชัดเจน
- ฮิสโตแกรม [Histrogram]
เป็นกราฟที่แสดงค่าความสว่างในภาพ โดยแสดงการกระจายของแสงและความมืด ช่วยให้คุณประเมินการเปิดรับแสงได้ [แบบมี Logic] ว่าภาพนั้นมืดเกินไป สว่างเกินไป หรือสมดุลพอดี
- โฟกัสอัตโนมัติ [Auto Focus]
เป็นฟังก์ชันของกล้องที่ปรับเลนส์ให้อยู่ในโฟกัสโดยอัตโนมัติ โหมดโฟกัสอัตโนมัติมีหลายแบบ เช่น Single-shot AF สำหรับวัตถุที่อยู่กับที่ และ Continuous AF สำหรับวัตถุที่เคลื่อนไหว
มาเข้าสู่เนื้อหาหลักของวันนี้กัน มาดูกันค่ะว่า การถ่ายตอนกลางคืนออกมาให้สวย ดูดี มีระดับ มีเทคนิคไหนที่ใช้ได้บ้าง มาดูกันเลยค่ะ
สิ่งแรกที่คุณควรทำเมื่อหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายนั่นก็คือการปรับความไวชัตเตอร์ให้ต่ำกว่าปกติ เพื่อรับแสงเข้ากล้องให้มากขึ้น โดยอาจจะใช้ความเร็วชัตเตอร์เริ่มต้นที่ 1/60 หรือน้อยกว่านั้นก็ได้ แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด ให้ใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง จะเป็นตัวช่วยทำให้การถ่ายภาพง่ายขึ้น ซึ่งใช้ประมาณ F/1.8 ก็เพียงพอต่อความต้องการ
เป็นเทคนิคง่ายๆ ที่ช่างภาพหลายคนแนะนำเลยค่ะ เพราะจะช่วยให้การถ่ายภาพในที่แสงน้อยออกมาสวยขึ้น คมชัด แถมยังไม่ต้องถือให้เมื่อยอีกด้วย เนื่องจากการตั้งสปีดชัตเตอร์ให้ต่ำ มีโอกาสที่ภาพจะเบลอสูงมากหากเกิดการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย อีกทั้งวิธีนี้ยังทำให้คุณแทบจะไม่ต้องปรับ ISO เลย ก็ได้ภาพสวยๆ แล้ว
หลายคนคงงงว่าทำไมจะต้องปิดกันสั่นด้วย เพราะขาตั้งกล้อง + กันสั่น น่าจะทำให้ภาพนิ่ง สวยกว่าเดิม แต่ไม่ค่ะ คุณเข้าใจผิดแล้ว นั่นก็เป็นเพราะว่าในเลนส์ที่มกันสั่น จะมีชุดเลนส์ที่ขยับไปมา เพื่อชดเชยการสั่นไหวขณะเปิดใช้งาน นั่นก็จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวตลอดนั่นเอง แม้ว่าจะอยู่นิ่งๆ ก็ตาม ทำให้ภาพออกมาไม่คมชัด ยิ่งตั้งสปีดชัตเตอร์ไว้ต่ำด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่
อย่างที่มาดามบอกไปค่ะว่ากุญแจสำคัญของการถ่ายภาพในตอนกลางคืนคือมือเราต้องนิ่งมากๆ แม้ว่าจะอยู่บนขาตั้งกล้องแล้วตอนเรากดชัตเตอร์ไป มือของเราอาจจะทำให้กล้องสั่นได้ ดังนั้น ก็ใช้อุปกรณ์ช่วยอย่าง Remote หรือตั้ง Timer ในการถ่ายภาพ ไปเลยก็จะช่วยได้เยอะเลยค่ะ
Auto Focus เป็นฟังก์ชั่นที่ทำให้เราเกิดความสะดวกสบายในการถ่ายภาพก็จริง แต่ปัญหาของการถ่ายในที่แสงน้อย หรือที่มืด คือ โฟกัสจะไม่ทำงานนั่นเอง ทำให้ภาพมองเห็นไม่ชัดเจน ดังนั้น ต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นแบบ Manual หรือหมุนเลนส์ด้วยตัวเองจะดีที่สุดค่ะ
อย่างที่ทราบกันดีว่ารูรับแสงมีผลต่อการถ่ายภาพในตอนกลางคืนเป็นอย่างมาก ดังนั้น ต้องปรับรูรับแสงให้ต่ำเข้าไว้ ก็จะช่วยให้มีแสงเพียงพอต่อการถ่ายรูป ซึ่งจะคล้ายคลึงกับการทำงานของ Speed Shutter นั่นเอง โดย F-Stop ที่แนะนำอยู่ระหว่าง f/1.4 ถึง f/2.8 ลองปรับจูนเรื่อยๆ จนเจอค่าที่สวยที่สุดค่ะ
ถ้าหากใครมีเพื่อนหรือตัวแบบไปด้วย ให้พยายามหาแหล่งกำเนิดแสงเข้าไว้ก่อน โดยให้พวกเขาเข้าใกล้กับแหล่งกำเนิดแสงให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น แสงไฟจากถนน จากร้านค้า แล้วจัดแต่งมุมให้เล่นกับแสงและเงาที่ตกกระทบ จะทำภาพสวยขึ้นแบบ 200%
ช่วง Blue Hour เป็นช่วงเวลาที่พบได้ตอนหลังพระอาทิตย์ตก และช่วงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า ซึ่งจะเป็นช่วงที่ท้องฟ้า มีความสวยงาม นุ่มนวลเป็นพิเศษ หลังจากผนวกเข้ากับเทคนิคข้างต้น จะช่วยให้ได้ภาพถ่ายตอนกลางคืนที่ได้ฟีลลิ่งมากขึ้น
เมื่อได้ทุกอย่างครบแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการวางแผนให้ดี โดยก่อนจะเริ่มถ่ายอย่างจริงจัง ควรสำรวจสถานที่ให้เรียบร้อย ว่าในช่วงเวลานั้นๆ มีแสงประมาณไหน ใช้ค่าตั้งค่า ISO หรือสปีดชัตเตอร์แบบไหนจะเหมาะที่สุด เพื่อให้ภาพออกมาสวย และเพิ่มความเป็นมืออาชีพในการทำงาน ในกรณีที่คุณมีนางแบบมาด้วย
เทคนิคสุดท้าย คือให้คุณถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW ค่ะ ซึ่งเป็นการถ่ายภาพด้วยไฟล์ขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถนำมาตกแต่งสีสันและสามารถแก้ไขรายละเอียดได้มากกว่าไฟล์ JPEG เพราะบางภาพอาจจะได้องค์ประกอบที่ดีแล้ว แต่มีบางส่วนที่ต้องแก้เพิ่ม เช่น White Balance เพื่อทำให้ภาพออกมาสมบูรณ์ที่สุด
นี่ก็คือทั้ง 10 เทคนิคของการถ่ายภาพ ที่มาดามนำมาฝากคุณในครั้งนี้ค่ะ เป็นอย่างไรบ้างคะ ไม่ยากเลยใช่ไหม โดยหลักๆ แล้วจะเห็นได้ว่าการถ่ายภาพตอนกลางคืนจะเน้นในเรื่องของการตั้งค่ากล้องให้เหมาะสม รวมไปถึงความฉลาดเลือกในการเล่นแสงเงาของเรานั่นเอง ดังนั้น การฝึกฝน ทดลองถ่ายภาพตอนกลางคืนหลายๆ มุม คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราถ่ายภาพได้สวยขึ้นนั่นเอง
สำหรับใครที่กำลังมองหากล้องถ่ายรูปดีๆ ที่ Central Online เราก็มีให้คุณได้คัดสรรเช่นกัน เพียงคลื้กที่ปุ่ม Shop Now ข้างต้นแล้วไปเลือกกันได้เลย
ขอบคุณภาพจาก: Nexus Marketting / Photograhy Life / Digital Camera World / canon / earth sky /ijyoyo